บทความ

How To Read Books Effectively – เทคนิคอ่านหนังสืออย่างมีประสิทธิภาพ

How To Read Books Effectively

หนังสือ ถือเป็นหนึ่งในแหล่งความรู้สำคัญที่ช่วยพัฒนาทักษะและกระบวนการคิดของมนุษย์ โดยในปัจจุบันได้มีหนังสือหลากหลายประเภทให้ผู้อ่านได้เลือกสรรกัน ไม่ว่าจะเป็นหนังสือเรียน นวนิยาย หนังสือการ์ตูน หนังสือภาพ หรือหนังสือเชิงพัฒนาตนเอง เป็นต้น

สำหรับเด็ก ๆ แล้ว นอกจากหนังสือที่สร้างความบันเทิงอย่างหนังสือการ์ตูนหรือหนังสือนวนิยาย หนังสือเรียนก็ถือว่าเป็นหนังสือที่สำคัญอย่างยิ่งเช่นกัน หนังสือเรียนในแต่ละวิชาต่างก็มีเนื้อหาที่เฉพาะตัวแตกต่างกันไป โดยความยากง่ายนั้นจะแปรผันไปตามระดับชั้นเรียนและความถนัดหรือความสนใจของผู้อ่าน

ในช่วงสอบอาจเป็นช่วงเวลาที่ใครหลาย ๆ คนไม่ชอบ แต่ก็เป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้อยู่ดี เพื่อที่จะให้รอดพ้นจากการสอบนั้น การอ่านหนังสือก็ถือว่าเป็นหนึ่งในวิธีสำคัญสำหรับการเอาตัวรอดครั้งนี้เลยก็ว่าได้ ในช่วงสอบ เด็ก ๆ หลายคนต่างพากันอ่านหนังสืออย่างจริงจัง บางคนใช้เวลาอ่านสั้น ๆ ก็จำได้เลย บางคนก็อ่านตั้งแต่หัวค่ำยันรุ่งเช้าเลยก็มี อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ใช้เวลาอ่านหนังสือนานพอควร อาจจะฟังดูดีสำหรับใครหลายคน บางครั้งตัวผู้อ่านเองอาจจะไม่เข้าใจในเนื้อหาหรือจับประเด็นอะไรได้เลย ทำให้ผลสอบที่ออกมาไม่เป็นไปตามที่หวัง

ครั้งนี้เราจะพามาแบ่งปันเทคนิคการอ่านหนังสืออย่างมีประสิทธิภาพว่าควรอ่านอย่างไรเพื่อให้จำได้และเข้าใจในเนื้อหา

ก่อนอื่นต้องรู้ก่อนว่าตัวเองอ่านหนังสือช่วงไหนดีที่สุด

หลาย ๆ คนต่างมีช่วงเวลาที่เหมาะกับการอ่านหนังสือที่ไม่เหมือนกัน บางคนรู้สึกว่าอ่านหนังสือช่วงดึกแล้วเข้าใจเนื้อหาได้ดี บางคนอ่านช่วงเช้าแล้วรู้สึกตัวเองจะจำเนื้อหาได้ดีกว่า ดังนั้น ก่อนจะเริ่มอ่าน เราควรจะสำรวจตัวเองก่อนว่าตัวเองอ่านช่วงไหนแล้วมีประสิทธิภาพมากกว่ากัน และไม่ควรจะเลียนแบบตามเพื่อนคนอื่น เพราะว่าช่วงเวลาที่เพื่อนอ่านอาจจะไม่เหมาะกับเรา หากเลียนแบบตาม บางครั้งอาจส่งผลเสียต่อประสิทธิภาพการอ่านหนังสือของเราได้

หากเรากำหนดได้แล้วว่าเวลาไหนควรจะอ่านหนังสือ เราก็จะได้มีเวลาว่างพักผ่อนสมองจากการอ่านหนังสือมากขึ้นด้วย

อ่านออกเสียง หรืออ่านไปพร้อม ๆ กับพูดไปด้วย

การอ่านหนังสือนั้น หากอ่านแบบอ่านผ่าน ๆ ไปให้มันจบ มีโอกาสสูงที่ทำให้เราจดจำเนื้อหาไม่ได้ เมื่อจำไม่ได้ก็ต้องย้อนกลับมาอ่านใหม่อีกรอบ ซึ่งทำให้เราเสียช่วงเวลาสำหรับการพักผ่อนไปอีก ดังนั้น ลองหันมาใช้วิธีอ่านไปด้วยพร้อม ๆ กับพูดไปด้วยเหมือนเราคุยกับตัวเอง พร้อมกับทำความเข้าใจเนื้อหาในระหว่างอ่านในแต่ละบท วิธีการนี้จะช่วยให้เราเข้าใจเนื้อหาที่หนังสือต้องการสื่อได้ดีขึ้นเลยทีเดียว

ทำสรุปสั้น ๆ ไว้

หลังจากอ่านหนังสือจบแล้ว การทำสรุปก็ถือว่าเป็นวิธีการสำคัญอย่างหนึ่งที่จะช่วยให้เราจดจำเนื้อหาและเข้าใจได้ดีขึ้น โดยวิธีการสรุปนั้นจะขึ้นอยู่กับแต่ละคนว่าจะวิธีไหนที่ทำให้ตัวเองจำได้ดี บางคนใช้วิธีการสรุปเป็นคีย์เวิร์ดสั้น ๆ บางคนวาดภาพประกอบช่วยเสริมความจำ บางคนวาดแผนภูมิเพื่อทำให้เห็นการเชื่อโยงของเนื้อหาว่ามีความเกี่ยวข้องกันอย่างไร

วิธีการสรุปเนื้อหา นอกจากจะช่วยให้เราเข้าใจเนื้อหาได้ดีขึ้น ยังมีส่วนช่วยให้เราพัฒนการเขียนอธิบายความเป็นไปของเนื้อหาต่าง ๆ ว่ามีความเชื่อมโยง มีความเกี่ยวข้องกันอย่างไรได้ด้วย

การฝึกทำโจทย์

นอกจากการทำสรุปเนื้อหาแล้ว การฝึกทำโจทย์เองก็เป็นวิธีการที่ช่วยให้เราเช็คตัวเองว่าเข้าใจเนื้อหาได้มากน้อยแค่ไหน การฝึกทำโจทย์จะช่วยให้เราคุ้นเคยกับการทำข้อสอบและได้ค้นพบเทคนิคการทำข้อสอบไปในตัว นอกจากนี้ยังช่วยให้เราสามารถทำนายได้ว่าข้อสอบที่เราจะพบมีลักษณะอย่างไร หากคาดเดาได้ เราก็จะหาวิธีรับมือกับโจทย์ได้ดีขึ้นเช่นกัน

ข้อสำคัญสำหรับวิธีการนี้คือ ห้ามดูเฉลยของโจทย์เด็ดขาด มิฉะนั้นการฝึกทำโจทย์จะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อะไรต่อตัวคนอ่านเลย

หยุดการเล่นโซเชียลระหว่างอ่านหนังสือ

ในสมัยนี้เด็ก ๆ หลายคนต่างคุ้นเคยกับการเล่นโซเชียลกันเป็นอย่างดี สำหรับใครหลาย ๆ คนอาจจะกลายเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญของชีวิตไปแล้ว อย่างไรก็ตาม ในช่วงอ่านหนังสือ หากอ่านไปด้วยเล่นโซเชียลได้ด้วย มีสิทธิ์ทำให้เราไม่สามารถโฟกัสกับเนื้อหาในหนังสือได้ 100 เปอร์เซ็นต์ อีกทั้งหากได้เล่นโซเชียลไปแล้ว คนที่เล่นอาจจะไม่รู้ตัวว่าเวลาที่เสียไปกับการโซเชียลนั้นยาวนานกว่าที่คิด ยิ่งเล่นมาก เวลาอ่านหนังสือก็จะยิ่งลดลง เวลาพักผ่อนก็จะลดลงตามไปด้วยเช่นกัน ดังนั้น เมื่อถึงเวลาอ่านหนังสือ เราต้องปิดโทรศัพท์ ปิดอินเทอร์เน็ต เพื่อให้เราโฟกัสกับเนื้อหาในหนังสือได้อย่างมีประสิทธิภาพนั่นเอง

อย่าอ่านหนังสือโต้รุ่ง

การอ่านหนังสือโต้รุ่งอาจจะฟังดูเป็นวิธีการที่ดีสำหรับใครหลาย ๆ คน เพราะเหตุผลที่ว่าหากอ่านเยอะและอ่านนาน จะทำให้เรามีความรู้แน่นขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม การอ่านโต้รุ่งจะทำให้เรามีเวลาในการพักผ่อนไม่เพียงพอ ซึ่งส่งผลให้เรารู้สึกเบลอ สมองเกิดความอ่อนล้า ทำงานไม่เต็มที่ ซึ่งนับได้ว่าเป็นสภาวะที่แย่อย่างมากในการสอบ ดังนั้น เราควรแบ่งเวลาอ่านให้เหมาะสมกับตนเอง และพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อที่จะทำให้เรามีสมาธิในการทำข้อสอบที่ดีขึ้น