บทความ

การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะในเด็ก

บทความจาก https://www.si.mahidol.ac.th/th/healthdetail.asp?aid=1395

การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ
          
คือการติดเชื้อจุลินทรีย์ ทำให้เกิดการอักเสบในระบบทางเดินปัสสาวะ พบได้ในเด็กเล็กและเด็กโต แบ่งได้เป็นการติดเชื้อทีไตและกรวยไต และการติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะ
          การติดเชื้อไตและกรวยไตซ้ำ ๆ อาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญ ได้แก่ ความดันเลือดสูงและโรคไตเรื้อรัง

สาเหตุและปัจจัยส่งเสริม
สาเหตุ
          
ส่วนใหญ่เกิดจากการคั่งค้างของปัสสาวะร่วมกับการปนเปื้อนจุลินทรีย์ผ่านเข้าทางท่อปัสสาวะ
ปัจจัยส่งเสริม
            1. ความผิดปกติของโครงสร้างทางเดินปัสสาวะ เช่น ภาวะปัสสาวะไหลย้อน (จากกระเพาะปัสสาวะสู่ท่อไต) และภาวะอุดกั้นในทางเดินปัสสาวะ
            2. ความผิดปกติในการบีบและคลายตัวของกระเพาะปัสสาวะ
            3. นิสัยการถ่ายปัสสาวะที่ไม่เหมาะสม

อาการ
ทารกและเด็กเล็ก
          
ส่วนใหญ่มักมีไข้ อาจร้องเวลาปัสสาวะ ปัสสาวะบ่อย กะปริบกะปรอย ปัสสาวะมีกลิ่นหรือสีผิดปกติ อาจมีอาเจียนหรืออุจจาระร่วงร่วมด้วย
เด็กโต
          หากติดเชื้อที่ไตและกรวยไต มักมีไข้สูงปวดหลังหรือบั่นเอว หากมีกระเพาะปัสสาวะอักเสบ มักปวดท้องน้อย ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะแสบขัด

การวินิจฉัย
          
อาศัยการตรวจปัสสาวะที่เก็บโดยปราศจากการปนเปื้อน เด็กเล็กที่ยังควบคุมปัสสาวะไม่ได้ แพทย์อาจจำเป็นต้องใส่สายสวนเพื่อเก็บปัสสาวะส่งตรวจ เด็กที่ควบคุมการขับปัสสาวะได้ ให้ทำความสะอาดอวัยวะเพศ ซับให้แห้ง จากนั้นปัสสาวะส่วนต้นทิ้งเล็กน้อย แล้วเก็บปัสสาวะส่วนกลาง ปริมาณ 20-30 มล.

การดูแลรักษา
          
การรักษาจำเพาะคือการให้ยาต้านจุลชีพรับประทาน หรืออาจต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลรับยาต้านจุลชีพทางหลอดเลือดดำหากอาการรุนแรง ผู้ป่วยควรได้น้ำอย่างเพียงพอ เด็กเล็กให้ดื่มน้ำสะอาดบ่อย ๆ เด็กโตควรดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว และรับประทานยาให้ครบตามแพทย์สั่ง
          สำหรับเด็กอายุ 2 เดือนถึง 5 ปี ที่ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ แนะนำให้ตรวจอัลตราซาวน์ระบบทางเดินปัสสาวะเพื่อตรวจหาควรผิดปกติของไตและโครงสร้างระบบทางเดินปัสสาวะ

การป้องกัน
          
– ฝึกสุขนิสัยในการขับถ่าย ท่าทางการขับถ่ายที่เหมาะสม เช่น ในเพศหญิงให้กางขาออกให้กว้างพอขณะถ่ายปัสสาวะ ในการถ่ายปัสสาวะแต่ละครั้งให้ถ่ายออกจนสุดโดยไม่เร่งรีบ อาจกำหนดเวลาให้ถ่ายปัสสาวะทุก 3-4 ชั่วโมง ไม่ควรอั้นปัสสาวะเป็นเวลานานให้ปัสสาวะก่อนทำกิจกรรมที่ใช้เวลานานและก่อนเข้านอน
          – ป้องกันท้องผูก โดยฝึกขับถ่ายอุจจาระให้เป็นเวลาทุกวัน ดื่มน้ำให้เพียงพอ รับประทานผักผลไม้เป็นประจำ
          – สอนการทำความสะอาดอวัยวะเพศ หลังการขับถ่าย เด็กผู้หญิงให้ทำความสะอาดจากด้านหน้าไปด้านหลัง เพื่อไม่ให้เชื้อโรคบริเวณรอบทวารหนักมาปนเปื้อนบริเวณท่อปัสสาวะ