บทความ

ปิดเทอม!!ชวนลูกนั่งสมาธิ ผลวิจัยหนุน..วิถีพุทธเจริญสติ

บทความจาก https://www.thaipost.net/main/detail/6138

(เด็กที่ชอบนั่งสมาธิจะทำให้จิตใจสงบ และสามารถทำกิจกรรมต่างๆ ได้เป็นอย่างดี)

    ถูกตั้งคำถามว่า “เด็กที่นั่งสมาธิ” จะช่วยสร้างความอดทน ไม่ยุกยิกได้แค่ไหน?? ขณะที่หลายคนมองว่าวิถีปฏิบัติของชาวพุทธดังกล่าวนั้น เป็นเรื่องที่ดี เนื่องจากสติเป็นเสียงเตือนชั้นเยี่ยมในการทำสิ่งต่างๆ และหากครอบครัวไหนที่สามารถทำให้ลูกๆ นั่งสมาธิได้ นั่นเป็นเรื่องดีที่สุด 
    จากคำพูดของ “องค์ทะไล ลามะ” ได้เคยกล่าวไว้ว่า” ถ้าโลกนี้สอนให้เด็ก 8 ขวบรู้จักนั่งสมาธิ จะช่วยหยุดการทำไม่ดี ให้กับเด็กคนนั้นได้ตลอดชีวิต”
    ทว่าประเด็นดังกล่าวเป็นเรื่องนานาจิตตัง เนื่องจากหลายคนอาจตั้งข้อสังเกตว่า การนั่งสมาธิหรือการทำจิตใจให้สงบ ด้วยวิธีเล็กน้อยๆ ดังกล่าว อาจไม่ได้ช่วยให้เด็กๆเป็นคนดี แต่การที่น้องๆ หนูๆ จะเป็นคนดีได้ ก็ต้องอาศัยปัจจัยอื่นๆ เพื่อช่วยหล่อหลอม 
ผลวิจัยสนับสนุนวิถีสงบสร้างสติ    
    รายงานข่าวระบุว่า จากการทบทวนผลวิจัยทางวิทยาศาสตร์จำนวน 22 ฉบับ ที่มีผู้เข้าร่วมทั้งสิ้นรวม 1,685 ราย พบว่า “การทำสมาธินั้นไม่สามารถลดความก้าวร้าว หรือลดความมีอคติลงได้” ขณะที่การศึกษาบางชิ้นที่นำเสนอเนื้อหาว่า การให้เด็กนั่งสมาธิจะช่วยเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่รู้จักเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ซึ่งที่กล่าวมานั้นได้รับการบอกต่อจากผู้ที่ต้องการสื่อสารอะไรบางอย่าง ทฤษฎีดังกล่าวอาจจะไม่ได้เป็นเรื่องจริง  
ขณะที่อาจารย์ Miguel Farias จากมหาวิทยาลัย “Coventry University” ในประเทศอังกฤษกล่าวว่า “สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นไม่ใช่การอ้างเรื่องศาสนาพุทธ หรือศาสนาอื่น เพื่อให้คนเห็นถึงความมีคุณธรรมและศีลธรรม ในการช่วยเปลี่ยนแปลงชีวิต และนำไปใช้เป็นเข็มทิศชีวิตในช่วงวัยสูงอายุ เพราะการที่เรานั่งสมาธิเพื่อทำให้จิตใจสงบ นั่นจะทำให้เรารู้สึกทรมาน จากความอ่อนแอที่มันถูกฝังลึกอยู่ในใจ” 
ด้านผู้ที่ชอบฝึกสมาธิได้เล่าให้ฟังเกี่ยวกับการทำสมาธิ ประกอบกับนักวิจัยเกี่ยวกับการนั่งปฏิบัติภาวนา โดยบอกว่าช่วยทำให้ความจำดีขึ้น พูดง่ายๆ ว่าช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคความจำเสื่อมในคนวัยทอง อีกทั้งวิถีพุทธถือได้ว่าเป็นแบตเตอรี่ที่จะช่วยปรับพฤติกรรมทางสังคม ช่วยให้มนุษย์รู้จักเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ซึ่งเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ในสังคมและเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตัว อีกทั้งจากการศึกษาส่วนใหญ่ยังพบว่า นักจิตวิทยาคลินิกได้ใช้การฝึกสมาธิเพื่อสร้างสติ ที่ฝึกมาตลอดระยะเวลา 20 ปี เพื่อต่อสู้กับโรคซึมเศร้าและอาการปวดเรื้อรัง 
ทั้งนี้ นักจิตวิทยาคลินิกที่ฝึกสมาธิคนดังกล่าวได้แนะนำให้นำรูปแบบต่างๆ ของการทำสมาธิ เพื่อลดความขัดแย้งในโรงเรียนและในเรือนจำ นอกจากนี้การฝึกสมาธิยังถูกนำไปใช้ในค่ายทหารฝึกรบ 
แต่ทั้งนี้ก็ได้มีการทบทวนข้อมูลที่เผยแพร่ดังกล่าว เนื่องจากอาจมีข้อบกพร่องที่ยังไม่สามารถสรุปยืนยันได้เกี่ยวกับการนั่งสมาธิ เพราะส่วนมากข้อมูลที่วิเคราะห์ เกี่ยวกับประโยชน์การทำสมาธิ ก็ยอมรับว่ายังมีข้อบกพร่องในการปฏิบัติ แต่ทั้งนี้จากผลการวิจัยก็ยังชี้ให้เห็นว่าการนั่งปฏิบัติภาวนา สามารถสร้างพลังใจและยังเป็นความหวังให้กับผู้ที่ถือศีล 
กล่าวโดยสรุปแล้วจากผลการวิจัยของอาจารย์ Miguel Farias อาจารย์จากมหาวิทยาลัย “Coventry University” ในประเทศอังกฤษให้ข้อมูลว่า การทำสมาธิในเด็กเล็กอาจไม่ใช่วิธีเดียวที่จะทำให้เด็กโตมาเป็นคนดีได้ เพราะอาจยังมีปัจจัยอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น การที่ผู้ปกครองประพฤติตัวเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูก และใช้การนั่งสมาธิเพื่อช่วยเด็กๆ รู้สึกผ่อนคลาย โดยไม่คาดหวังอะไรมากไปกว่านั้น หรือเป็นกิจกรรมครอบครัวที่ร่วมกันทำโดยมีทั้งพ่อแม่และลูกจะดีที่สุด”
พ่อแม่ “เข็มทิศ” นำชีวิต

พระครูปลัดมังกร ปัญญาวุฒโฑ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดนาคปรก ให้ข้อมูลว่า การฝึกสมาธิเป็นสิ่งที่จำเป็นและสำคัญมาก ทางที่ดีก็ควรจะหาวิธีสอนให้ลูกหลานทำสมาธิ เห็นได้จากพระพุทธเจ้าที่ทรงนั่งสมาธิตั้งแต่อายุได้ 7 ขวบ ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับเด็กๆ ยุคนี้ เนื่องจากสมาธิที่ดีจะทำให้เด็กมีอารมณ์ หรือมีพัฒนาด้านอีคิวที่ดีนั่นเอง เพราะปัจจุบันผู้ปกครองที่เลี้ยงลูก มักจะให้ความสำคัญเรื่องอาหาร มากกว่าการพาลูกนั่งปฏิบัติธรรม
“การที่เด็กจะมีอารมณ์ที่ดีจากการทำสมาธินั้น สามารถเรียนรู้ได้จากพ่อแม่โดยตรง นอกจากนี้การฝึกสมาธิก็มีด้วยกันหลายวิธี แต่พ่อแม่ในยุคปัจจุบันไม่ค่อยให้ความสนใจในเรื่องนี้ โดยเฉพาะเด็กอายุน้อยๆ ที่พ่อมักสนใจเรื่องอาหาร พัฒนาการ กระทั่งเรื่องเรียนของลูกน้อยเป็นหลัก ในทางกลับกัน พระครูมองว่า พ่อแม่ที่อาศัยอยู่โซนยุโรปจำนวนไม่น้อย ที่ฝึกสมาธิให้กับลูกน้อย ด้วยการรู้จักรอบางสิ่งบางอย่าง ตรงนี้ก็เป็นการทำสมาธิอย่างหนึ่ง หรือแม้แต่ ในประเทศไทยเอง ก็เริ่มมีการโปรโมตการฝึกสมาธิให้กับลูกน้อย โดยการออกโฆษณาที่เกี่ยวกับการฝึกสมาธิให้กับเด็กๆ เช่นการเล่นจ๊ะเอ๋กับลูก เพื่อให้เด็กมีสมาธิจดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นการฝึกสมาธิอย่างง่ายๆ หรือแม้ในปัจจุบันการฝึกสมาธิสามารถนำไปบำบัดเด็กที่ป่วยเป็นโรคออทิสติก ซึ่งมีอารมณ์แปรปรวน ดังนั้น ถ้าพ่อแม่ยิ่งสอนให้ลูกเรียนรู้การทำสมาธิได้เร็วเท่าไหร่ ก็ถือเป็นเรื่องดีกับเด็ก
ยกตัวอย่างว่า พ่อแม่ปู่ย่าตายายที่พาหลานเล็กๆ มาทำบุญที่วัด ไม่เพียงแต่เป็นการปลูกฝังเรื่องวัฒนธรรมในแบบวิถีชาวพุทธให้ลูกน้อย แต่การที่เด็กได้กราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ จะทำช่วยกล่อมเกลาจิตใจให้ระลึกถึงความดีงาม และทำให้มีจิตใจอ่อนโยน อีกทั้งการที่น้องๆ หนูๆ ได้ทำบุญ ก็เป็นการสอนให้รู้จักความเสียสละ กล่าวโดยสรุปว่าเด็กที่เข้าวัดและนั่งสมาธิไม่ได้เป็นเรื่องเชยอีกต่อไป แต่นั่นเป็นการที่ผู้ปกครองสามารถปลูกฝังคุณธรรมและความดี ตลอดจนความเสียสละตั้งแต่ยังเล็กๆ นั่นจะทำให้เขาเติบโตมาเป็นผู้ที่รู้จักให้ และอยู่ในสังคมด้วยความเอื้อเฟื้อ”

ด้าน นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษาสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ให้ข้อมูลว่า “การที่ผู้ปกครองให้เด็กเล็กตั้งแต่วัยอนุบาลและวัยประถมศึกษาได้รับการนั่งสมาธิ จะทำให้เด็กเกิดความสงบและเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการทำกิจกรรมต่างๆ เช่น การเรียน หรือการเล่นกีฬา แต่ส่วนการนั่งสมาธิจะทำให้เด็กเติบโตเป็นคนดีของสังคม หรือเป็นผู้ที่มีจิตเมตตาได้หรือไม่นั้น ประเด็นนี้จะขึ้นอยู่กับกระบวนการเรียนรู้ที่อยู่รอบตัวเด็กมากกว่า ทั้งครอบครัวและโรงเรียน ซึ่งหมายความว่า ถ้าในโรงเรียนที่เด็กเรียนนั้น คุณครูเป็นคนดี และหมั่นถือศีลปฏิบัติธรรมกระทั่งชอบนั่งสมาธิ ตรงนี้ก็อาจจะทำให้เด็กโตขึ้นมีเมตตา เพราะได้รับการปลูกฝังที่ดีจากแม่พิมพ์ของชาติ กระทั่งการที่เด็กเติบโตในครอบครัวที่ชอบเข้าวัดทำบุญ ปัจจัยแวดล้อมเหล่านี้จึงถือมีส่วนสำคัญในการพัฒนาเด็กแต่ละคน เพราะอันที่จริงแล้วการนั่งสมาธิในเด็กวัยอนุบาล อาจจะทำได้ประมาณ 2-3 นาที ซึ่งมีข้อดีอย่างที่บอกไปว่า เป็นจุดเริ่มต้นของความสงบ ที่นำไปสู่การทำกิจกรรมต่างๆ ได้เป็นอย่างดี มากกว่าประเด็นอื่น”.