บทความจาก https://www.parentsone.com/8-fear-of-kids-to-help/
คุณพ่อคุณแม่เองต่างก็มีความกลัวกันไปต่างๆ นานา กลัวลูกจะกินข้าวไม่อิ่มบ้าง กลัวอุบัติเหตุบ้าง และความกลัวก็ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะผู้ใหญ่ เด็กตัวเล็กๆ ก็มีความกลัวเช่นเดียวกัน บางคนกลัวมาก บางคนก็กลัวน้อยไม่เท่ากัน หรือบางครั้งเด็กๆ ก็กลัวสิ่งที่ไม่น่าจะกลัวขึ้นมาเฉยๆ
หากความกลัวนี้เพิ่มมากขึ้น จนบางครั้งคุณพ่อคุณแม่เองก็เริ่มสงสัยว่าจะมีปัญหาอะไรกับอนาคตของเด็กๆ หรือไม่ แล้วความกลัวนี้จะหายไปอย่างไร วันนี้ ParentsOne จะพาคุณพ่อคุณแม่มาทำความเข้าใจ และหาทางออกกับความกลัวนี้กันค่ะ
เป็นเรื่องธรรมชาติของเด็กทุกวัยที่จะต้องกลัว ขนาดผู้ใหญ่อย่างเราๆ ยังกลัวเลยค่ะ บางอย่างถ้าให้ย้อนไปสมัยเด็กๆ คุณพ่อคุณแม่เองก็มีความกลัว เช่นกลัวความมืด กลัวผี แต่เรื่องบางเรื่องพอโตขึ้นความกลัวเหล่านั้นมักจะหายไปเองตามวัย แล้วแต่ละวัยจะมีความกลัวแบบไหนบ้าง ไปดูกันเลย
วัยทารก : เป็นวัยที่มักจะกลัวทุกสิ่งที่อย่างที่ผิดแปลกไปจากเดิม เช่นเสียงดังๆ หรือหน้าตาของคนแปลกหน้าที่ไม่คุ้นชิน
วัย 1-3 ปี : วัยนี้จะเริ่มกลัวความมืด คุณพ่อคุณแม่จึงไม่ควรปล่อยให้ลูกอยู่ในห้องที่มืดๆ เพียงคนเดียว นอกจากความมืดแล้วเขายังกลัว กิจกรรมแปลกใหม่ที่ไม่เคยทำมาก่อนในชีวิต เช่นการปั่นจักรยานครั้งแรก การว่ายน้ำครั้งแรก เป็นต้น
วัย 3-5 ปี : วัยนี้ถือว่าเป็นวัยที่มีจินตนาการแล้ว สิ่งที่เขากลัวมักจะเป็นสิ่งที่เขาคิดว่ามีจริงๆ อยู่บนโลกใบนี้ อย่างเช่น ผี งูยักษ์กินคน แม่มด หรือเพื่อนในจินตนาการต่างๆ ที่เป็นตัวประหลาดทั้งหลายที่ทำให้เขากลัวได้ง่ายๆ นั้นเองค่ะ
วัย 6-12 ปี : วัยนี้มักจะกลัวสิ่งที่จะเป็นเรื่องจริงในชีวิตประจำวัน อย่างเช่น ไฟไหม้บ้าน เจ้าแมวตัวโปรดตาย แม่ไม่รัก พ่อตี เป็นต้น
- การขู่ การหลอก หรือการทำให้ตกใจอยู่บ่อยๆ : ลูกจะมีความรู้สึกฝังใจกับเรื่องต่างๆ ที่เกิดขึ้น จนบางครั้งคนที่เป็นต้นเหตุก็เป็นใครไม่ใกล้ไม่ไกล นั้นก็คือผู้ใหญ่ที่อยู่ใกล้ชิดกับเด็กนั้นเองค่ะ
- คนใกล้ชิดกับลูกเป็นคนขี้กลัวง่าย : ความกลัวโดยเห็นแบบอย่างจากคนใกล้ชิด เช่น คุณแม่กลัวหนูมากๆ เมื่อเห็นหนูทีไรต้องร้องเสียงดังทุกที แถมยังกระโดดหนีอีกด้วย เป็นต้น
- ลูกเคยมีประสบการณ์ที่กระทบจิตใจอย่างรุนแรงมาก่อน : อาจจะเป็นประสบการณ์ที่ทำให้เขาตกใจอย่างมาก เช่น การได้รับอุบัติเหตุที่รุนแรงมาก่อนจึงทำให้เขารู้สึกไม่ปลอดภับ ต้องคอยระแวดระวังไว้ก่อน เพราะกลัวเหตุการณ์เดิมๆ จะเกิดอีกครั้ง
- ขาดความอบอุ่น และความเข้าใจ : โดยเฉพาะจากผู้ใหญ่ที่อยู่ใกล้ตัว คุณพ่อคุณแม่หรือคนที่เลี้ยงดู ที่ไม่ได้ฝึกฝนทักษะในด้านต่างๆ ทำให้เขาไม่เข้าใจและขาดความมั่นใจไป
เด็กๆ มักจะกลัวอะไรบ้าง ?
1.กลัวความมืด : เด็กหลายๆ คนมักกลัวความมืด เพราะในเวลากลางคืนเขาจะไม่สามารมองเห็นอะไรๆ ได้เลย ทำให้เวลาเดินหรือมองอะไร ทำให้รู้สึกไม่มั่นใจ และบวกกับจินตนาการของเขาเอง ทำให้ความมืดมันน่ากลัวเข้าไปอีก แต่อย่าว่าแต่เด็กที่กลัวเลยค่ะ ผู้ใหญ่อย่างเราๆ ก็ยังกลัวความมืดเลยจริงไหมคะ
2.ผีใต้เตียง หรือปีศาจในตู้ : เป็นสิ่งลึกลับแถมยังเป็นที่แคบ บวกกับความมืดที่มองไม่เห็น ทำให้เด็กๆ โดยเฉพาะเด็กไทยจะกลัวผีใต้เตียงเป็นพิเศษ ยิ่งดูภาพยนตร์ ละคร หรือเรื่องเล่า เกี่ยวกับเรื่องผีต่างๆ ยิ่งทำให้เด็กกลัวเข้าไปใหญ่ค่ะ
3.กลัวคนแปลกหน้า : เด็กๆ หลายคนมักจะกลัว หรือไม่อยากคุยหรืออยากเล่นด้วยกับคนแปลกหน้า หรือคนที่ไม่คุ้นชินในครอบครัว เพราะเด็กกำลังอยู่ในช่วงวัยของการจำหน้าคนที่คุ้นเคย หากพบหน้าคนไม่คุ้นเคยขึ้นมาจะให้เขากลัวและไม่อยากเผชิญหน้านั้นเองค่ะ
4.กลัวเสียงดัง : โดยเฉพาะเด็กเล็กๆ ที่มักจะมีความไวต่อเสียง หากมีเสียงที่ดังเกินไป เช่น เสียงฟ้าร้อง เสียงเพลงที่ดังกระหึ่ม เสียงเครื่องดูดฝุ่น หรือจะเป็นเสียงเครื่องปั่นน้ำ หากดังเกินไปเขาก็จะเกิดความกลัวได้เช่นกันค่ะ
5.กลัวการถูกทิ้ง หรือคนไม่รัก : เด็กๆ มักชอบอยู่กับคนที่รักหรือคุ้นเคย เขาจะรู้สึกปลอดภัย หากวันไหนที่คุณพ่อคุณแม่ไม่อยู่ต้องไปทำงานนอกบ้านขึ้นมา แล้วไม่สามารถดูแลเขาได้ตลอดละก็ คุณพ่อคุณแม่ก็ต้องหาสถานที่อย่างเช่น โรงเรียน ซึ่งเด็กๆ บางคนก็ถูกผลักดันให้เข้าโรงเรียนก่อนวัยที่จะต้องเข้าเรียนเสียอีก จึงทำให้เขาเหมือนกับว่าถูกทิ้งให้อยู่ลำพัง ทำให้เด็กๆ ไม่ชอบและกลัวไปเลยค่ะ
6.กลัวตำรวจจับ : ความกลัวนี้สาเหตุมักจะเกิดจากผู้ใหญ่มักจะหลอกให้เด็กๆ กลัว เช่น เมื่อใดที่ลูกไม่ยอมฟัง แม่ก็มักจะพูดว่า “ถ้าดื้อแบบนี้ เดี๋ยวจะให้ตำรวจมาจับเลยนะ” เมื่อเราหลอกเด็กมาๆ จะทำให้เขากลัวและสร้างทัศนคติที่ไม่ดีต่อตำรวจทั้งๆ ที่ตำรวจก็ไม่ได้ไปทำอะไรให้เด็กเลยนั้นเอง
7.กลัวคุณหมอและพยาบาล : เช่นเดียวกับการกลัวตำรวจ ที่คุณพ่อคุณแม่มักจะหลอกเด็กเมื่อเขาดื้อว่า “เดี๋ยวให้หมอจับฉีดยาเลยนะ” เด็กๆ เมื่อได้ยินเช่นนี้บ่อยๆ ก็จะเกิดความกลัวขึ้นมาทันที และมีทัศนคติทางลบต่อคุณหมอและพยาบาล เมื่อเกิดเจ็บป่วยขึ้นมา งานเข้าคุณพ่อคุณแม่เลยนะคะทีนี้ เด็กๆ จะกลัวโดยอันตโนมัติเลยค่ะ ยังไงคุณพ่อคุณแม่ต้องอธิบายให้เขาฟังว่าเรามาฉีดยาเพื่อให้เราหายป่วยและกลับมาแข็งแรงเหมือนเดิมนั้นเองค่ะ
8.กลัวสัตว์ต่างๆ : ยิ่งเป็นสัตว์ที่หน้าตาน่ากลัว ๆ และมีการปลูกฝังให้กลัวอย่างเช่น แมงมุม มดแดง งู เป็นต้น เด็กบางคนกลัวสัตว์นั้น จนใช้เป็นสัญลักษณ์ของวันฮาโลวีนเลยค่ะ
วิธีช่วยให้ลูกเอาชนะความกลัว
- เข้าใจความกลัวของลูก : คุณพ่อคุณแม่ต้องเข้าใจว่าลูกของเรายังเด็ก และเป็นวัยแห่งการเรียนรู้โลก และจินตนาการ ดังนัน้นทุกสิ่งที่ลูกเห็นหรือได้ยิน จะทำให้เขาเกิดความกลัวต่างๆ ได้อยู่แล้ว เช่นผี ปีศาจ ความมืด แต่ความกลัวของเด็กแต่ละคนก็แตกต่างกันไป ตามช่วงอายุ วิธีเอาชนะความกฃัวที่ได้ผลกับเด็กแต่ละคนก็แตกต่างกันไปด้วยนั้นเอง ขึ้นอยู่กับอายุ พัฒนาการ และความสามารถในการจัดการกับความเครียดของเด็กแต่ละคนด้วย
- คุยกับลูก : การคุยกับลูกจะช่วยให้เขาสบายใจขึ้น เหมือนเป็นการเปิดโอกาสให้เขาได้เล่าความในใจว่า กลัวอะไรบ้าง เพราะอะไรทำไมถึงกลัว ให้เขาได้ระบายความรู้สึกออกมา ให้ลูกเห็นว่าคุณสนใจและเห็นอกเห็นใจความรู้สึกของเขา
- ไม่ควรใช้คำพูด : “อย่าทำตัวเป็นเด็กทารก” , “อย่าปอดไปหน่อยเลย” , ” ดูเพื่อนของลูกสิ ไม่เห็นกลัวเลย ” เป็นต้น การพูดคำเหล่านี้จะทำให้ลูกเชื่อว่า ความรู้สึกกลัวเป็นสิ่งที่ผิด และต่อไปลูกจะไม่มาเล่าสิ่งที่เขากลัวให้คุณฟัง คุณต้องพยายามบอกเขาว่า ความกลัวเป็นสิ่งปกติ
- อย่าละเลยความกลัวของลูก : เช่น ถ้าลูกกลัวญาติพี่น้อง หรือเพื่อนบ้านบางคน จงอย่าละเลยแล้วอย่าบังคับให้ลูกอยู่กับคนที่เขากลัว แต่ให้ลูกอธิบายว่าเพราะอะไรถึงกลัวคนๆ นั้น แต่ยังไงถ้าลูกเกิดการกลัวผิดปกติคุณพ่อคุณแม่ต้องสงสัยบ้าง เผื่อมีอะไรผิดปกตินะคะ
- อย่าหัวเราะเยาะลูก : การทำเช่นนี้ไม่ได้ทำให้ลูกเกิดความกลัวที่น้อยลงเลย แต่จะทำให้เขากังวลมากขึ้น และทำให้ลูกเป็นคนไม่มั่นใจในตัวเอง
- เป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูก : ลูกมักจะเลียนแบบพ่อแม่ หากเราแสดงออกให้ลูกเห็น ลูกก็จะแสดงอาการกลัวเช่นกัน เด็กๆ มักเชื่อว่า ถ้าอะไรปลอดภัยสำหรับพ่อแม่ สิ่งนั้นจะต้องปลอดภัยสำหรับสำหรับเขาด้วยเช่นกันค่ะ
- ไม่ให้ลูกดูอะไรที่น่ากลัว : เพราะว่าเด็กยังไม่สามารถแยกแยะความจริงกับเรื่องสมมติได้ เขามักจะจินตนาการและกลัวในสิ่งที่ไม่เห็น กลัวปีศาจในทีวี กลัวผีใต้เตียงจากภาพยนตร์ ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงและให้เขาได้เรียนรู้ความแตกต่างระหว่างจินตนาการและความจริงค่ะ
- คอยอยู่เคียงข้าง : คุณพ่อคุณแม่ต้องแสดงความรักกับเขาและคอยอยู่กับเขาเพื่อ ปกป้องลูกจากสิ่งอันตราย เมื่อเขาไม่กลัวและรู้สึกมั่นใจแล้ว อาการกลัวก็จะลดลงไปเองค่ะ