บทความจาก https://www.krungsri.com/th/plearn-plearn/วธ-รบมอ-ลกตดเกม-อยางสรางสรรค
เกมออนไลน์ ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ก็ติดได้เหมือน ๆ กัน แต่หากอาการติดเกมเกิดกับลูกตัวน้อย ๆ ของเราจนเขาเริ่มมีอาการตัดขาดจากโลกภายนอกแล้วล่ะก็ คงเป็นสิ่งที่สร้างความกังวลใจให้ผู้เป็นพ่อแม่มือใหม่ได้ไม่น้อยเลยทีเดียว ยิ่งยุคนี้ เด็ก ๆ โตมาก็เล่นไอแพด สไลด์มือถือกันเร็วกว่าพวกเราเสียอีกก่อนอื่นอยากให้มองว่า เกมออนไลน์นับเป็นสื่อเพื่อความบันเทิงชนิดหนึ่งนี่แหละครับ เหมือนกับที่ผู้ใหญ่ติดซีรีส์ ติดละคร หรือโซเชียลมีเดีย อย่ามองว่าเกมออนไลน์เป็นตัวปัญหา หรือความร้ายแรงอะไรเลย เพราะปัญหาจริง ๆ ไม่ได้อยู่ที่ “เกม” แต่อยู่ที่ความ “พอดี” ในการที่เราใช้เวลา 1 วันไปกับมันมากน้อยแค่ไหนมากกว่าสัญญาณที่บ่งบอกว่าลูกน้อยวัยไม่กี่ขวบเริ่มติดเกมจนกลายเป็นปัญหา และต้องการแนวทาง “การช่วยเหลือ” ที่ชัดเจนจากผู้ปกครอง เช่น เด็กเริ่มตัดขาดจากโลกภายนอก ไม่คุยกับพ่อแม่ ไม่เล่นกับเพื่อนฝูง ไม่เข้าสังคม หรือทำกิจกรรมอื่น ๆ ที่เด็กในวัยนี้ควรทำเลยหนักเข้าก็งอแง ไม่ยอมไปโรงเรียน หรือโดดเรียนไปเล่นเกม เหล่านี้ทำให้ผู้เป็นพ่อแม่รู้แล้วล่ะว่า เกมออนไลน์เริ่มมีอิทธิพลเหนือวงจรชีวิตปกติของลูกเสียแล้ว เราพอมีคำแนะนำให้พ่อแม่รุ่นใหม่ดังนี้ครับ
1. หนามยอก เอาหนามบ่ง: ลูกติดเกมออนไลน์เหรอ ใช้แอพฯ ช่วยสิ!
สมัยนี้พ่อแม่รุ่นใหม่เองก็มีตัวช่วยด้านเทคโนโลยีมาใช้ในการเลี้ยงลูกเยอะเหมือนกันครับ แนะนำให้ลองดาวน์โหลดโปรแกรมล็อกเกม หรือแอพพลิเคชันล็อกเกมมาใช้งาน เพื่อจำกัดการเข้าถึงเกมออนไลน์รุนแรงบางเกมในอุปกรณ์ของเด็ก หรือจำกัดเวลาในการเล่นเกม เช่น PlayPad Parental Control หรือลองเสิร์ชคำว่า Parental Control ใน Google Play สำหรับระบบแอนดรอยด์หรือวินโดวส์โฟนส่วนอุปกรณ์ iOS จะสะดวกหน่อยเพราะไม่ต้องดาวน์โหลดแอพพลิเคชัน ก็สามารถเซ็ตค่าในมือถือได้เลยครับ โดยไปที่ Setting >> General >> Restriction >> Enable >> แล้วกำหนดว่าจะจำกัดการใช้งานหรือแอพพลิเคชันใดบ้าง
2. อธิบายให้ลูกเข้าใจถึงโลกแห่งความเป็นจริง และโลกเสมือนจริงในเกม
ผู้ปกครองควรอธิบายอย่างใจเย็นให้เด็กเล็กฟังถึงความแตกต่างระหว่างโลกแห่งความเป็นจริงและโลกเสมือนจริงที่ถูกสร้างขึ้นมาในเกม เพราะเด็กในวัยนี้มีจินตนาการสูง และยังแยกไม่ออกระหว่างโลกทั้งสอง และเวลาอธิบายให้เด็กฟัง อย่ากลัวไปล่วงหน้าว่าเด็กจะไม่เข้าใจครับหากไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไรดี ลองนึกถึงตอนที่พ่อแม่ของเราอธิบายให้เราเข้าใจว่า ทำไมตัวการ์ตูนในทอมแอนด์เจอร์รี่ถึงไม่ตาย ทั้ง ๆ ที่โดนทุบศีรษะหลายครั้ง หรือวิ่งตกเหวหลายรอบ อาจจะช่วยให้เรานึกวิธีออกก็ได้ครับ
3. เกมที่สร้างเสริมพัฒนาการเด็ก VS เกมเพื่อความบันเทิง
มีเกมหลายชนิดที่สร้างขึ้นมาเพื่อเป็นสื่อการสอน ช่วยส่งเสริมพัฒนาการของเด็ก แต่ก็ให้ความเพลิดเพลินได้ ซึ่งมีความแตกต่างจากเกมเพื่อความบันเทิงเพียงอย่างเดียว พ่อแม่ควรทราบว่าเกมออนไลน์ใดที่เหมาะกับพัฒนาการของลูก เล่นแล้วเกิดประโยชน์อะไรบ้าง อาจนำมาช่วยทดแทนเกมเพื่อความบันเทิงอื่น ๆ ในท้องตลาด เช่น เกมออนไลน์ที่ช่วยเรื่องทักษะการคิดคำนวณ การจดจำ หรือทักษะการใช้คำ เกมแต่งตัวเจ้าหญิงที่ช่วยเรื่องทักษะการจับคู่สิ่งของ เป็นต้น
4. กำหนดเวลา กุญแจสำคัญในการสร้างวินัย
ควรกำหนดเวลาและสร้างเงื่อนไขในการเล่นเกมออนไลน์ให้ลูก โดยให้ลูกเล่นเกมออนไลน์ได้ก็ต่อเมื่อเขารับผิดชอบงานของตนเองเสร็จเรียบร้อยแล้ว เช่น เล่นหลังทำการบ้านเสร็จ หรืออ่านหนังสือเสร็จแล้ว เป็นต้น และกำหนดเวลาไม่ให้อยู่กับหน้าจอเกมนานเกินไป เช่น เล่นได้ไม่เกินวันละ 1 ชั่วโมงในช่วงเปิดภาคเรียน และไม่เกิน 2 ชั่วโมงในช่วงปิดเทอม เป็นต้น
วิธีที่ดีในการกำหนดเวลา คือ การหานาฬิกาปลุกมาตั้งไว้ใกล้ ๆ เพื่อเตือนให้ทั้งเขาและเราทราบเมื่อหมดเวลาครับ
5. เบี่ยงเบนความสนใจและให้รางวัล
เชื่อไหมว่า การเบี่ยงเบนความสนใจเด็กให้ไปทำกิจกรรมที่เขาสามารถทำร่วมกับพ่อแม่ได้ มีผลดีในระยะยาวมาก เช่น การอ่านหนังสือกับเขาก่อนเข้านอนหรือตอนตื่นเช้า ช่วยเพิ่มสมาธิให้กับเด็กได้เป็นอย่างดี ลองทำเป็นกิจวัตรกับเขาทุก ๆ วัน เพื่อให้เขาจับมือถือให้น้อยลงกว่าเดิมครับนอกจากนี้ การให้รางวัลก็สำคัญไม่แพ้กัน หากเขาสามารถห้ามใจไม่เล่นเกมออนไลน์ในวันนั้นได้ พ่อแม่ควรมีรางวัลอะไรให้กับเขาเพื่อสร้างกำลังใจ เช่น จะทำเมนูโปรดให้ทานในมื้อเย็นของวันนั้น เล่านิทานเรื่องโปรดให้ฟังก่อนนอน หรือสัญญากับเขาว่าจะพาไปเดินเล่นที่สวนสาธารณะในวันเสาร์ที่จะมาถึงก็ได้ครับ การให้รางวัลเป็นกลไกกระตุ้นให้เขาอยากทำความดีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และทำให้เขารู้ว่าการที่เขาชนะใจตัวเองได้นั้นไม่ได้สูญเปล่าไปในสายตาของคนเป็นพ่อแม่เลย
6. เอาอุปกรณ์ในการเล่นเกม รวมทั้งมือถือ ออกจากห้องนอนลูก
ควรเคลียร์ห้องนอนลูกให้เป็นพื้นที่สำหรับ “การนอน” จริง ๆ ไม่ควรอนุญาตให้เขาเอามือถือ คอมพิวเตอร์ ไอแพด หรืออุปกรณ์ใด ๆ ที่ใช้ในการเล่นเกมออนไลน์เข้าไปด้วย เพราะจะทำให้เขาแอบเล่นเกมตอนกลางคืนจนไปงีบหลับในห้องเรียน รบกวนวงจรเวลานอนที่ดีของลูกครับ
7. หักดิบ ไม่ดี ซ้ำส่งผลด้านลบ
การหักดิบโดยห้ามให้ลูกเลิกเล่นเกมเลยทีเดียวนั้น เป็นเรื่องที่ทำให้เด็กเกิดอคติต่อตัวพ่อแม่ ไม่รับฟังเหตุผล (เพราะเขากำลังคิดว่าสิ่งที่พ่อแม่ทำนั้นเป็นการใช้อำนาจที่ไม่มีเหตุผล) และกระตุ้นพฤติกรรมการต่อต้านออกมาได้หลายรูปแบบ เพื่อให้ได้ในสิ่งที่ตนเองต้องการ ดังนั้น จึงควรค่อย ๆ ปรับใช้เทคนิคในข้อ 1 – 6 กับลูกดูก่อน ดีกว่าการหักดิบในคราวเดียวการช่วยเหลือลูกน้อยด้วยการควบคุมพฤติกรรมการเล่นเกมออนไลน์เป็นเรื่องที่พ่อแม่ควรใส่ใจในการเลี้ยงลูก “ลงมือให้เร็ว” และให้ความสำคัญเป็นอันดับต้น ๆ หากไม่อยากให้ทุกอย่างสายเกินไปครับ