บทความจาก https://www.prachachat.net/d-life/news-658600
สถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอก 3 ที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อต่อวันพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และหลายคนอาจจะกลายเป็นผู้สุ่มเสี่ยงหรือผู้สัมผัสใกล้ชิดผู้ติดเชื้อ ทำให้ต้องตรวจเชื้อและกักตัวเพื่อสังเกตอาการ เมื่อผลแล็บออกมา
หากพบว่าตัวเองติดเชื้อโควิด-19 แล้วเราควรจะทำอย่างไรต่อ ต้องติดต่อที่ไหน เตรียมตัวอย่างไร “ดีไลฟ์-ประชาชาติธุรกิจ” สรุปไว้ในคอนเทนต์ชิ้นนี้แล้ว
ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยขั้นตอนในการเตรียมตัวเบื้องต้นทั้งหมด 5 ข้อ ดังนี้
1.เตรียมเอกสารหลักฐานที่จำเป็น เช่น บัตรประจำตัวประชาชน ผลการตรวจโควิด-19 และติดต่อแจ้งโรงพยาบาลที่เข้ารับการตรวจ
2.ในกรณีที่โรงพยาบาลที่ตรวจยังหาเตียงให้ไม่ได้ภายใน 1-2 วัน สามารถติดต่อสายด่วนเฉพาะกิจกรมการแพทย์ 1668 และสายด่วน สปสช. 1330 เพื่อแจ้งเรื่องเข้ารับการรักษา
3.ในระหว่างรอเตียงและรอรถพยาบาลไปรับ ผู้ติดเชื้อควรแยกตัวเอง แยกของใช้ส่วนตัว ใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา และไม่สัมผัสกับบุคคลอื่นในครอบครัว หากพักอาศัยในหมู่บ้านหรืออาคารชุด ควรแจ้งให้นิติบุคคลทราบ เพื่อผู้พักอาศัยคนอื่นจะได้ปฏิบัติตัวได้ถูกหากพบว่ามีความเสี่ยง
4.เมื่อมีอาการไข้สูง หายใจเหนื่อย ถ่ายเหลวหลายครั้ง ให้โทร.สายด่วนสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ 1669
5.เพิ่มเพื่อนกับ LINE Official Account @sabaideebot เพื่อสอบถามข้อมูลอื่น ๆ เพิ่มเติม
อย่างที่ทราบกันว่า ณ ตอนนี้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นจำนวนมาก หน่วยงานภาครัฐได้จัดหาเตียงเพื่อรองรับผู้ติดเชื้อในรูปแบบของโรงพยาบาลสนาม และหอผู้ป่วยเฉพาะกิจ (hospitel) และล่าสุดกระทรวงสาธารณสุขเปิด “ศูนย์แรกรับและส่งต่อ” ในกรุงเทพฯ เพื่อดูแลผู้ป่วยระหว่างรอเตียง โดยมีทีมแพทย์ พยาบาล พร้อม ยา เวชภัณฑ์อุปกรณ์การแพทย์ ในลักษณะหอผู้ป่วยโควิดรวม
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ได้อธิบายในการแถลงข่าวสถานการณ์โควิด-19 เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2564 เกี่ยวกับเกณฑ์การประเมินอาการของผู้ติดเชื้อในการเข้ารับการรักษาในแต่ละสถานพยาบาล โดยแบ่งออกเป็น 3 ระดับ ประกอบด้วย
สีเขียว คือกลุ่มที่ไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อย อายุไม่มาก ไม่มีโรคร่วม หากผู้ป่วยมาจากการค้นหาเชิงรุกจะถูกส่งไปดูแลในโรงพยาบาลสนาม ส่วนผู้ป่วยที่มาจากการตรวจแล็บหรือการตรวจในโรงพยาบาล จะถูกส่งต่อไปที่โรงพยาบาลสนาม และ hospitel ซึ่งทั้งสองสถานที่เป็นไปตามมาตฐานของสถานพยาบาล ผู้ป่วยจะไม่สามารถระบุว่าต้องการเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลสนาม หรือ hospitel เองได้
สีเหลืองและสีแดง เป็นกลุ่มที่มีอาการของโรครุนแรงมากกว่ากลุ่มแรก กลุ่มนี้จะได้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลทั้งหมด ได้แก่ โรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานคร กรมการแพทย์ โรงเรียนแพทย์ และโรงพยาบาลเอกชน โดยทุกโรงพยาบาลจะสำรองเตียงไอซียู เพื่อรองรับผู้ป่วยที่มีอาการหนัก
โรงพยาบาลสนาม เป็นสถานที่ที่เหมาะสมในการรักษาตัวของผู้ป่วยที่ไม่แสดงอาการ หรือมีอาการน้อย อาจจะไม่เหมาะกับผู้ที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ผู้สูงอายุ เด็ก สตรีมีครรภ์ โดยผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลสนามจะได้รับการรักษาจากแพทย์ผ่านทาง telemedicine
หากเราคือคนที่ต้องเข้าไปอยู่ที่โรงพยาบาลสนาม หลายคนอาจจะมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการเตรียมความพร้อม ต้องปฏิบัติตัวอย่างไร เตรียมอะไรบ้าง ซึ่งกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขได้ออกข้อปฏิบัติ 10 ข้อ เมื่อผู้ป่วยโควิด-19 ต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลสนาม ดังนี้
1.จัดเตรียมอุปกรณ์ของใช้ส่วนตัวมาเอง เช่น ช้อนส้อม แปรงสีฟัน ยาสีฟัน สบู่ ยาสระผม ผ้าเช็ดตัว ยาประจำตัว และชุดเสื้อผ้าตามความเหมาะสม (โรงพยาบาลสนามอาจมีการเตรียมชุดให้)
2.สิ่งที่ห้ามนำเข้ามาในที่พัก เช่น ทรัพย์สินมีค่า อุปกรณ์เล่นการพนัน บุหรี่ สารเสพติด เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาวุธ และของมีคม
3.ห้ามนำเครื่องดื่มและอาหารทุกชนิดเข้ามาในที่พัก โรงพยาบาลสนามมีการเตรียมอาหารที่เพียงพอให้ครบทั้ง 3 มื้อ ส่วนการส่งอาหารจากภายนอก ขึ้นกับข้อกำหนดเฉพาะของแต่ละโรงพยาบาล
4.ให้พักในอาคารตลอดเวลา และไม่ให้ออกจากที่พัก ยกเว้นในบริเวณที่มีการกำหนดไว้ให้
5.ห้ามย้าย สลับ หรือแลกเตียง ควรพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อพักฟื้นร่างกาย
6.สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา อาบน้ำและเปลี่ยนชุดใหม่ทุกวัน
7.ทิ้งขยะในถังขยะที่จัดวางไว้และปิดฝาทุกครั้ง
8.งดรับประทานอาหารร่วมกัน รวมถึงพูดคุยระยะใกล้ชิด หรือจับกลุ่มทำกิจกรรม
9.ร่วมกันทำความสะอาด และทำความสะอาดบริเวณที่พัก
10.เมื่อมีอาการเปลี่ยนแปลงจากเดิม เช่น มีไข้สูง ไอมากขึ้นเหนื่อย ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลทันที
สำหรับหอผู้ป่วยเฉพาะกิจ หรือ hospitel มาจากการผสมระหว่างคำสองคำ คือคำว่า hospital (โรงพยาบาล) และ hotel (โรงแรม) จัดตั้งขึ้นเพื่อรองรับผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ รวมถึงผู้ป่วยที่รักษาในโรงพยาบาล 3-5 วันแล้วอาการไม่แย่ลง ก็สามารถเข้ามาพักรักษาต่อที่ hospitel ได้
hospitel แตกต่างจากโรงพยาบาลสนามตรงที่ ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาอาจจะเป็นผู้ป่วยใหม่ หรือผู้ป่วยที่มีอาการดีขึ้นแล้ว มาเข้าพักในหอพักหรือโรงแรมที่ถูกจัดเตรียมไว้ ซึ่งอาจจะสะดวกสบายกว่าโรงพยาบาลสนาม ผู้ป่วยได้รับการติดตามสัญญาณชีพ และ oxygen set เป็นระยะ ๆ หากมีอาการผิดปกติแพทย์จะพิจารณาให้ย้ายเข้าไปรับการรักษาในโรงพยาบาลแม่ข่ายต่อไป
ผู้ป่วยหญิงวัย 40 กว่า ๆ ที่เพิ่งหายจากโรคโควิด-19 เขียนไดอารี่แชร์ประสบการณ์ตรงของเธอเกี่ยวกับการเข้ารักษาอาการป่วยโควิด-19 ใน hospitel ว่า สิ่งที่ต้องจัดเตรียมติดตัวไปมีดังนี้
1.เตรียมของใช้ส่วนตัว ได้แก่ จัดเสื้อผ้าไปให้ครบ เพราะไม่มีบริการซักรีด ครีม อุปกรณ์ห้องน้ำ ผงซักฟอก น้ำยาล้างจานกับฟองน้ำ แก้วน้ำ เพราะส่วนใหญ่แก้วที่จัดให้จะเป็นแก้วกระดาษ ช้อนส้อม ส่วนใหญ่ที่จัดให้เป็นช้อนส้อมพลาสติก และถ้ามีกาต้มน้ำของตัวเองจะดีมาก
2.สมุนไพร วิตามิน ยารักษาโรคประจำตัว (ถ้ามี) และมีดปอกผลไม้สำหรับหั่นขิงและมะนาว
3.อุปกรณ์ทำความสะอาดและป้องกันโรคส่วนตัว อย่างหน้ากากอนามัย สเปรย์-เจลแอลกอฮอล์ และถุงมือ ซึ่งทางโรงแรมและทีมแพทย์จะมีให้ แต่มีในจำนวนจำกัด ควรเตรียมไปเองเผื่อเหลือเผื่อขาดด้วย
4.ของอื่น ๆ ที่จำเป็นต่อการอยู่ในห้องอย่างน้อย 10 วัน แต่อย่าเยอะเกินไป เพราะตอนกลับจะขนลำบาก
5.สิ่งที่ขาดไม่ได้คืออุปกรณ์สื่อสาร เพราะต้องใช้การสื่อสารเพื่อการรักษา ทั้งทางโทรศัพท์ LINE และวิดีโอคอล ที่สำคัญคือต้องพยายามอยู่ใกล้โทรศัพท์ และเตรียมอุปกรณ์ให้พร้อมชาร์จแบตให้เต็ม เพื่อจะสามารถโทร.หาพยาบาลได้ทันทีถ้ามีเหตุฉุกเฉิน
ส่วนการดูแลตัวเองขณะรักษาตัวใน hospitel เธอบอกว่า ต้องกินยาเต็มจำนวนตามที่หมอสั่ง งดยาหรืออาหารเสริมอย่างอื่นไปก่อน นอนพักเยอะ ๆ เพราะร่างกายกำลังต่อสู้กับไวรัส
“คุณเองต้องช่วยทีมแพทย์เพื่อให้เขาดูแลคุณได้เต็มที่ด้วย เพราะอยู่ในห้องคนเดียวต้องดูแลตัวเองมาก ๆ จริง ๆ การนอนไม่เปิดแอร์จะดีมาก แต่การพักอยู่ในโรงแรมมันทำได้ยาก”
เธอแนะนำสิ่งที่ผู้ป่วยต้องสังเกตตัวเอง 8 ข้อ ดังนี้
1.การหายใจและค่าออกซิเจน ต้องคอยดูการหายใจตัวเองให้ดี ๆ อาจจะทำสมาธิเพื่อช่วยเรื่องการหายใจก็ได้
2.ความดันโลหิต ระดับความดันโลกหิตปกติของแต่ละคนอาจจะไม่เท่ากัน แต่ควรอยู่ในช่วงความดันที่ตัวบน 95-125 ตัวล่าง 70-90 ความดันอาจจะเหวี่ยงมากช่วงป่วย แต่เป็นอาการของโรค อย่าตกใจมากนัก ระวังตัวเองอย่าให้วูบ หากจะกินยาลดความดันต้องถามหมอก่อน
3.วัดไข้วันละ 2-3 เวลา ส่วนใหญ่ไข้จะมากลางคืน ถ้าไข้สูงก็ขอยากินได้
4.กินยาให้ครบตามเวลา ห้ามดื้อเด็ดขาด เห็นใจทีมแพทย์บ้าง เพราะเขาต้องดูแลคนในสัดส่วนที่มากกว่าเดิมหลายเท่าตัว
5.X-ray ปอดทุก 2-3 วัน ยิ่งถ้าไวรัสลงปอดแล้วยิ่งต้องคอยสังเกตอาการ
6.ควรนอนคว่ำหน้าหรือนอนตะแคง เพื่อลดแรงกดดันที่มีต่อปอด และช่วยให้หายใจได้คล่องขึ้น อาจจะนอนไม่สนิท แต่การเปลี่ยนท่านอนจะช่วยได้มาก
7.สังเกตการนอนและอาการแทรกซ้อนอื่น ๆ ต้องสังเกตอาการเฉพาะของตัวเองด้วย เพราะอาจจะเกิดอาการแทรกซ้อนขึ้นได้
8.ถ้าอาการไม่ดีจริง ๆ รีบโทร.หาพยาบาลได้ตลอด 24 ชั่วโมง
อย่างไรก็ตาม เธอบอกว่าอาการของแต่ละคนอาจจะแตกต่างกันไป ดังนั้น การดูแลตัวเองก็ต้องปรับเปลี่ยนไปตามอาการ
“อาการมันออกไม่เหมือนกัน ไม่มีใครเดาทางออกได้ 100% ว่าคุณจะดีขึ้นในกี่วันหรืออาการอาจจะแทรกซ้อนได้ หากอยู่ในกลุ่มเสี่ยง มันเป็น personal journey จริง ๆ ดังนั้น เข้มแข็งไว้ค่ะ คนส่วนมากจะหายเองได้”