บทความจาก https://www.passeducation.com/content/6997/เทคนิครับมือลูกฉี่รดที่นอน
เทคนิครับมือลูกฉี่รดที่นอน
เชื่อว่าสมัยคุณแม่เป็นเด็กก็เคยฉี่รดที่นอนกันมาแล้ว และเมื่อโตขึ้นหน่อยก็เลิกฉี่รดที่นอนไปเอง ในตอนนั้นที่เราเป็นเด็ก เราก็แค่ฝันว่าปวดฉี่ แล้วก็ไปฉี่ที่ห้องน้ำ แต่ที่นอนมันเปียกได้ยังไงก็ไม่รู้ มาถึงตอนนี้บทบาทของเราเปลี่ยนไป เรากลายเป็นคุณแม่ที่ต้องรับมือกับปัญหา ลูกฉี่รดที่นอน เช่นนี้แล้วคุณแม่จะแก้ปัญหานี้อย่างไรดีให้ลูกเลิกฉี่รดที่นอน
จริงๆ แล้ว ลูกฉี่รดที่นอน ถือเป็นเรื่องปกติในเด็กเล็กวัย 1-5 ปี เพราะพัฒนาการทางร่างกายยังไม่สมบูรณ์เต็มที่ เมื่อโตขึ้นอายุตั้งแต่ 5 ขวบขึ้นไปมักจะปรับตัวได้ และเลิกฉี่รดที่นอนได้เอง คุณแม่จึงไม่ควรกังวลมากนัก
ลูกฉี่รดที่นอน มีสาเหตุจากอะไร
เรามาทำความเข้าใจกันก่อนว่า สาเหตุของการฉี่ราด ฉี่รดที่นอนนั้นเกิดจากอะไรได้บ้าง
● ความสามารถในการควบคุมกระเพาะปัสสาวะขณะนอนหลับของเด็กยังพัฒนาไม่เต็มที่ ซึ่งเด็กแต่ละคนมีพัฒนาการเร็วช้า แตกต่างกันไป เหมือนกับที่เด็กบางคนพูดเร็ว บางคนพูดช้า บางคนเดินเร็ว บางคนฟันขึ้นช้านั่นเอง
● พันธุกรรม หากคุณพ่อคุณแม่คนใดคนหนึ่งมีประวัติการฉี่รดที่นอน ลูกมีโอกาสฉี่รดที่นอนร้อยละ 15 แต่หากคุณพ่อคุณแม่มีประวัติการฉี่รดที่นอนทั้งคู่ โอกาสที่ลูกจะฉี่รดที่นอนมีถึงร้อยละ 77 เลยทีเดียว
● ความผิดปกติในการหลั่งฮอร์โมน ADH ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมปริมาณปัสสาวะ การทำงานของกระเพาะปัสสาวะ หากฮอร์โมนตัวนี้ทำงานผิดปกติ จะส่งผลให้เด็กจะรู้สึกปวดปัสสาวะถึงแม้มีปริมาณปัสสาวะไม่มาก
● ความผิดปกติของอวัยวะที่เกี่ยวข้องกับขับถ่าย เช่น กระเพาะปัสสาวะอักเสบ เป็นโรคไต ทราบได้จากการตรวจปัสสาวะ
● ดื่มน้ำหรือนมจำนวนมาก ทานอาหารบางอย่างที่มีฤทธิ์ขับปัสสาวะ เช่น ชา กาแฟ น้ำอัดลม โกโก้ ช็อคโกแลต รวมถึง การได้รับยาขับปัสสาวะ
● ท้องผูกเกิดจากก้อนอุจจาระกดทับกระเพาะปัสสาวะทำให้ความจุของกระเพาะปัสสาวะลดลง
● ความเครียดอาจเป็นตัวกระตุ้นทำให้อาการปัสสาวะรดเป็นมากขึ้นหรือทำให้อาการกลับมาเป็นใหม่ในเด็กที่เคยควบคุมการปัสสาวะได้แล้ว เช่น การมีน้องใหม่ หรือ พ่อแม่ทะเลาะกัน เป็นต้น
● ไม่กล้าลุกไปเข้าห้องน้ำ เด็กส่วนใหญ่จะกลัวความมืดอยู่ลึก ๆ จึงไม่ค่อยอยากไปห้องน้ำตอนกลางคืน
ลูกฉี่รดที่นอน แบบไหนเรียกผิดปกติ
โดยส่วนใหญ่แล้วอาการฉี่รดที่นอนจะหายไปเมื่อลูกอายุตั้งแต่ 5 ขวบขึ้นไป แต่ก็ยังพบว่าร้อยละ 15 ของเด็กอายุ 5 ขวบ ยังฉี่รดที่นอนอยู่ หากตรวจไม่พบสาเหตุความผิดปกติอื่น ไม่ถือว่าเป็นความผิดปกติ เมื่อโตขึ้นจะหายได้เอง โดยการฉี่รดที่นอนจะลดลงร้อยละ 15 ต่อปี ดังนั้นเด็กบางคนจึงยังฉี่รดที่นอนเป็นบางวันจนอายุ 12-13 ปีเลยก็มี และมักพบว่ามีประวัติพ่อหรือแม่เป็นเหมือนกันในวัยเด็ก
หากลูกอายุ 5 ขวบขึ้นไป มีการฉี่รดที่นอน อย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ครั้ง ติดต่อกันเป็นเวลา 3 เดือน โดยที่ไม่ได้เป็นผลมาจากการใช้ยา เช่น ยาขับปัสสาวะ หรือโรคทางกาย เช่น โรคเบาหวาน ถือว่าเป็นความผิดปกติ ควรพาลูกไปพบคุณหมอเพื่อรับการรักษา
วิธีแก้ปัญหา ลูกฉี่รดที่นอน
แม้ว่าลูกจะเลิกฉี่รดที่นอนได้เองเมื่อโตขึ้น แต่หากคุณแม่ฝึกลูกอย่างสม่ำเสมอ อาจช่วยให้ทำได้เร็วขึ้น ด้วยวิธีต่อไปนี้
1. ฝึกลูกเข้าห้องน้ำก่อนนอน
พยายามชวนลูกฉี่ก่อนนอนให้เป็นนิสัย เพื่อให้ลูกเคยชินกับการปัสสาวะก่อนเข้านอน และเพื่อที่จะไม่ปวดฉี่กลางดึกเมื่อหลับไปแล้ว
2. ลดการดื่มน้ำก่อนเข้านอน
ลดการดื่มน้ำในช่วงเย็น โดยเฉพาะก่อนเข้านอน 1-2 ชั่วโมง ไม่ควรให้ลูกกินอาหารและเครื่องดื่ม เช่น น้ำอัดลม โกโก้ ช็อคโกแลต เพราะมีสารกระตุ้นการขับปัสสาวะ อาจทำให้ปวดฉี่กลางดึก แต่หากลูกรู้สึกหิวน้ำ สามารถให้ดื่มน้ำเปล่าได้เล็กน้อย
3. ไม่ปลุกลูกขึ้นมาฉี่ตอนกลางคืน
คุณแม่บางบ้านอาจใช้วิธีการสังเกตว่าลูกมักจะปัสสาวะตอนกลางคืนช่วงเวลาไหน แล้วปลุกลูกขึ้นมาฉี่ก่อนที่ลูกจะฉี่รดที่นอน แต่คุณแม่รู้ไหมว่า การปลุกลูกขึ้นมาฉี่กลางดึกขณะลูกยังคงอยู่ในภาวะครึ่งหลับครึ่งตื่นนั้นไม่ต่างอะไรจากการที่ลูกฝันว่าลุกขึ้นไปฉี่ที่ห้องน้ำเลย ทั้งยังส่งผลให้ลูกเลิกฉี่รดที่นอนได้ช้ากว่าปกติ และการปลุกลูกขึ้นมาฉี่ ยังเป็นการขัดจังหวะการนอนของลูกอีกด้วย
4. ฝึกให้ลูกรับผิดชอบหากฉี่รดที่นอน
คุณแม่ควรสอนลูกว่า ปัญหาการฉี่รดที่นอนไม่ได้เป็นหน้าที่ของคุณแม่คนเดียวเท่านั้น ลูกควรรับผิดชอบต่อการฉี่รดที่นอนของตัวเองด้วย โดยอาจให้ลูกบันทึกอาการ และจำนวนครั้งที่ฉี่รดที่นอนด้วยตัวเอง ซึ่งพบว่า เด็กจำนวนหนึ่งฉี่รดที่นอนน้อยลงมาก หลังจากเริ่มจดบันทึกด้วยตัวเอง นอกจากนี้ คุณแม่ควรให้ลูกมีส่วนร่วมในการช่วยคุณแม่ซักผ้าปูที่นอน และเปลี่ยนผ้าปูที่นอนด้วย เมื่อลูกได้มีส่วนร่วมจะกระตุ้นตัวเองให้พยายามไม่ฉี่รดที่นอนได้ดียิ่งขึ้น
5. ฝึกให้ลูกลุกขึ้นมาฉี่เองหากรู้สึกปวดฉี่
ฝึกให้ลูกลุกขึ้นมาฉี่เองหากรู้สึกปวดฉี่ หรือหากลูกไม่กล้าที่จะเดินไปห้องน้ำเอง อาจหากระโถนเล็ก ๆ มาวางไว้ในห้องนอน หากลูกปวดฉี่สามารถลุกขึ้นมานั่งกระโถนแทนได้ แล้วตอนเช้าค่อยนำไปเททิ้ง
6. สร้างกำลังใจให้ลูกอยากเลิกฉี่รดที่นอน
ทำตารางเพื่อติดสติกเกอร์ดาวสะสมแต้ม ในวันที่ไม่ฉี่รดที่นอน และเมื่อสะสมดาวครบ 5 ดวง ลูกจะได้รับรางวัลเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น ได้กินขนมที่ชอบ หรือได้รางวัลตามที่ตกลงกันเพื่อเป็นกำลังใจให้ลูก
7. อย่าดุลูก
สิ่งสำคัญคือ เมื่อลูกฉี่ราด ฉี่รดที่นอน ไม่ควรตำหนิต่อว่า หรือทำให้เป็นเรื่องน่าอาย เพราะจะทำให้ลูกเก็บกด และไม่กล้าบอกคุณพ่อคุณแม่เมื่อฉี่รดที่นอน เพราะกลัวถูกตำหนิ คุณแม่ควรแสดงออกว่า เป็นเรื่องธรรมดาปกติที่เด็กจะฉี่รดที่นอนบ้าง เราก็แค่ช่วยกันเอาผ้าปูที่นอนไปซักตาก และเปลี่ยนผ้าปูที่นอนใหม่ ลูกจะไม่รู้สึกผิด เครียด หรือเกิดความกังวล