บทความ

เมื่อลูกก้าวร้าว พ่อแม่อย่างเราควรรับมือกับพฤติกรรมนี้อย่างไร?

บทความจาก https://www.phyathai.com/article_detail/2127/th/เมื่อลูกก้าวร้าว_พ่อแม่อย่างเราควรรับมือกับพฤติกรรมนี้อย่างไร

ในสังคมปัจจุบัน เราอาจพบกับเหตุการณ์ “เด็กก้าวร้าว” อยู่บ่อยครั้ง จนก่อให้เกิดคำถามว่า ทำไม? เด็กเล็กๆ ถึงมีพฤติกรรมทำลายข้าวของ ใช้คำพูดหยาบคาย หรือทำร้ายผู้อื่น ในขณะที่ตัวพ่อและแม่เองก็ยังไม่รู้ว่าจะรับมืออย่างไร และนี่…คือคำตอบที่จะช่วยให้พ่อแม่ยุคใหม่เข้าใจและพร้อมรับมือ เมื่อลูกมีพฤติกรรมก้าวร้าวได้อย่างถูกต้อง!!

ความก้าวร้าวในเด็ก มีสาเหตุมาจากอะไรได้บ้าง?

    1. ในเด็กเล็กยังมีพัฒนาการด้านสติปัญญาและการเจริญเติบโตของสมองที่ยังไม่สมบูรณ์ ในขณะที่สมองส่วนอารมณ์พัฒนาได้เร็วกว่า การแสดงออกทางอารมณ์จึงชัดเจนกว่า ส่งผลให้เด็กควบคุมอารมณ์ การยับยั้งชั่งใจ และการรอคอยได้จำกัด

    2. หากเด็กมีความบกพร่องทางด้านสติปัญญา เด็กจะมีพัฒนาการล่าช้ากว่าปกติในทุกๆด้าน ส่งผลให้มีข้อจำกัดในการคิด การวางแผน การจัดการปัญหา การจัดการอารมณ์ ให้เหมาะสมตามวัย

    3. การมีโรคประจำตัวเรื้อรัง หรือ โรคหรืออุบัติเหตุทางสมอง เช่น ลมชัก สมองอักเสบ เนื้องอกในสมอง เคยมีเลือดออกในสมอง ต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ เป็นต้น ทำให้สมองทำหน้าที่ได้ไม่สมบูรณ์ เกิดลักษณะอารมณ์แปรปรวนหรือมีการรับรู้ทางระบบประสาทที่ผิดปกติ

    4. โรคทางจิตเวช เช่น เด็กมีโรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า โรคสมาธิสั้น เป็นต้น

    5. การไม่มีผู้ปกครองหรือครอบครัว สอนเรื่องการจัดการอารมณ์ของตนเองให้กับเด็ก หรือเด็กไม่เคยมีประสบการณ์เรื่องการรู้จัก อดทน รอคอย

    6. ครอบครัวมีรูปแบบการแก้ปัญหาโดยใช้อารมณ์ในการพูด การกระทำ ทำให้เด็กเรียนรู้โดยอัตโนมัติ ว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้เครียดจะใช้การแก้ปัญหาโดยการแสดงอารมณ์ที่ไม่เหมาะสมออกมา

    7. การเลียนแบบเพื่อน หรือสื่อต่างๆที่ไม่เหมาะสม มีความรุนแรง และการใช้สารเสพย์ติด เป็นต้น

เมื่อลูกมีพฤติกรรมก้าวร้าว พ่อแม่ควรรับมืออย่างไร

    1. ผู้ปกครองหรือคนที่ดูแลเด็กต้องเข้าใจก่อนว่า มีเหตุการณ์หรือตัวกระตุ้นอะไรที่ทำให้เด็กมีพฤติกรรมก้าวร้าว และเหตุการณ์นั้นส่งผลหรือทำให้เด็กรู้สึกอย่างไร และคิดอย่างไรต่อเหตุการณ์นั้นๆ

    2. พ่อแม่ต้องควบคุมจัดการอารมณ์ตนเองให้ได้ก่อน และรับฟังว่าลูกต้องการจะสื่อสารอะไรกับพ่อแม่ เช่น ต้องการให้พ่อแม่สนใจ ต้องการให้พ่อแม่ทำให้ลูกสบายใจขึ้น หรือต้องการระบายความรู้สึกอึดอัด หรือต้องการจะหนีจากเหตุการณ์ที่ไม่ต้องการขณะนั้น การที่พ่อแม่มีอารมณ์ที่สงบและนิ่งได้ก่อน จะสามารถแก้ไขปัญหา ได้…และเป็นตัวอย่างให้ลูกได้เห็นว่าเมื่อมีเหตุการณ์ที่เครียด พ่อแม่ก็สามารถนิ่งและมีสติให้ลูกเห็นได้

    3. ให้เวลากับลูกได้สงบสติและอารมณ์ในบรรยากาศที่สงบ แต่ถ้าพฤติกรรมค่อนข้างรุนแรง พ่อแม่ควรหยุดพฤติกรรมเหล่านั้น โดยการโอบกอดทางด้านหลังเพื่อไม่ให้ลูกทำร้ายตนเอง ผู้อื่น รวมไปถึงการทำลายสิ่งของ โดยใช้คำพูดว่า กำลังช่วยลูกให้สงบ เพราะลูกไม่สามารถควบคุมตนเองได้ เมื่อลูกสามารถควบคุมอารมณ์ได้แล้ว พ่อแม่ควรใช้เวลาในการสอบถามความรู้สึกของลูก และแนะนำวิธีการแก้ปัญหาที่เหมาะสม

    4. ในเวลาปกติทั่วไป สมาชิกในครอบครัวควรสร้างบรรยากาศที่ดี ร่วมทำกิจกรรมในครอบครัว มีบรรยากาศการรับฟังปัญหาซึ่งกันและกัน เพื่อให้เด็กมีโอกาสได้เล่าความรู้สึก และเล่าปัญหา เพื่อเสนอแนะแนวทางแก้ไข

    5. มีการทำกติกาตกลงกันในครอบครัวว่าเมื่อมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น สามารถพูดคุยและเปิดเผยกันได้ โดยไม่มีการตำหนิหรือใช้อารมณ์

    6. ผู้ใหญ่ในครอบครัวควรปฏิบัติต่อเด็กเหมือนกันทุกคน เช่น ผู้ใหญ่คนหนึ่งให้เวลากับเด็กได้สงบก่อนเมื่อมีเด็กเริ่มแสดงอารมณ์ แต่ผู้ใหญ่อีกคนบังคับห้ามแสดงอารมณ์ออกมา อาจทำให้เด็กสับสนว่าเวลาโมโหควรจะทำอย่างไรดีที่สุด

    7. เมื่อผู้ปกครองเห็นถึงความตั้งใจของเด็กว่ามีความพยายามความอดทนที่จะจัดการอารมณ์ตนเอง ผู้ปกครองควรมีการชื่นชมให้กำลังใจ ถึงความตั้งใจ ความพยายามของเด็ก แม้บางครั้งยังจัดการอารมณ์หรือพฤติกรรมได้ไม่ดีนักก็ตาม