บทความจาก https://doctordear.com/nose-bleed101/
ลูกน้อยเลือดกำเดาไหลทีไรคุณแม่ตกใจทุกที
“คุณหมอค่ะ น้องเลือดกำเดาไหลบ่อยมาก
บางทีไหลที่โรงเรียนจนคุณครูต้องโทรตามคุณแม่ให้มารับที่โรงเรียนเลยค่ะ”
“น้องมีเลือดตอนนอนหลับทั้งตอนกลางวัน ทั้งตอนกลางคืน
ตื่นมาเลือดไหลออกมาเต็มจมูกเลยค่ะ ทำยังไงดีคะ”
เลือดกำเดาไหลเป็นปัญหาหนึ่งที่คุณพ่อคุณแม่มักพาลูกมาปรึกษาหมอเดียร์กันอยู่เป็นประจำ เพราะบางครั้งเลือดกำเดาของลูกน้อยไหลออกมามาก เต็มจมูก เต็มหน้าเต็มตา ทำเอาคุณพ่อคุณแม่ตกอกตกใจกันเลยทีเดียว
เลือดกำเดาคืออะไร
หมอเดียร์เชื่อว่าคุณพ่อคุณแม่คงทราบกันดีอยู่แล้วว่าเลือดกำเดาคือ เลือดออกจากโพรงจมูกทางด้านหน้านี่แหละ แต่ก็สามารถไหลออกทางด้านหลังโพรงจมูกได้ด้วย เลือดกำเดาอาจไหลออกข้างเดียวหรือทั้งสองข้างก็ได้
เลือดกำเดาพบได้ในทุกเพศ ทุกวัย มักพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ส่วนใหญ่เรามักเข้าใจว่าเลือดกำเดาจะไหลบ่อยตอนช่วงอากาศร้อนหรือแดดจัดๆเลยใช่ไหมครับ แต่ความจริงแล้วเลือดกำเดาจะไหลบ่อยในช่วงที่มีอากาศหนาวเพราะว่าช่วงที่อากาศหนาว ความชื้นในอากาศจะลดลง และยังมีหวัดหรือการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนต้นมากกว่าช่วงอื่นๆ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เลือดกำเดาไหลได้บ่อยนั่นเอง
ส่วนใหญ่แล้วเลือดกำเดาในเด็กหยุดเองโดยการดูแลรักษาตามอาการโดยที่ไม่ต้องมาพบหมอครับ
สาเหตุของเลือดกำเดาไหลของลูกน้อยมีอะไรบ้าง

สาเหตุของเลือดกำเดาในเด็กมีมากมายครับ หมอเดียร์จะขอแบ่งให้คุณพ่อคุณแม่เข้าใจได้ง่ายๆดังนี้
1.เลือดกำเดาไหลจากโรคภูมิแพ้ นั่นก็คือ โรคเยื่อบุจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ โรคนี้เกิดจากเยื่อบุจมูกมีความไวต่อสิ่งกระตุ้น มักเป็นในเด็กอายุ 3-4 ปีขึ้นไป (ถ้าเป็นเด็กอายุน้อยๆแต่อาการและการตรวจร่างกายเข้าได้ก็สามารถวินิจฉัยได้ครับ) เด็กที่เป็นโรคนี้เวลาหายใจสูดสารภูมิแพ้เข้าไปในจมูกจะทำให้เกิดการอักเสบของเยื่อบุโพรงจมูก หลอดหลอดเลือดฝอยที่เยื่อบุจมูกจะขยายตัวทำให้มีเลือดมาเยอะมากกว่าปกติ ซึ่งเด็กที่เป็นเยื่อบุจมูกอักเสบจากภูมิแพ้มักมีอาการคันจมูกต้องแคะจมูกบ่อยๆ ทำให้หลอดเลือดฝอยมีโอกาสฉีกขาดแล้วเกิดเลือดกำเดาไหลได้ง่าย นอกจากนี้ยังพบอาการอื่นๆเช่น คัดจมูก, คันจมูก, น้ำมูกไหล, ไอเรื้อรัง, นอนกรน เป็นต้น ซึ่งอาการเหล่านี้มักป็นบ่อยมากบางคนอาจเป็นตลอดทั้งปีเลยก็ได้
2.เลือดกำเดาไหลจากสาเหตุอื่นที่ไม่ใช่ภูมิแพ้ เช่น
2.1. การระคายเคืองหรือบาดเจ็บบริเวณจมูก ทำให้เกิดการฉีกขาดของเยื่อบุโพรงจมูก เลือดกำเดาที่ไหลมักไม่มากและไหลระยะเวลาสั้นๆ อาจมีเลือดกำเดาไหลซ้ำตอนช่วงใกล้หายได้ เช่น
- การแคะจมูกบ่อยจนติดเป็นนิสัย
- การกระแทกที่จมูก
- การผ่าตัดในโพรงจมูก เช่น การผ่าตัดเยื่อบุจมูก, การผ่าตัดผนังกั้นช่องจมูก, การผ่าตัดโพรงไซนัส, การใส่ท่อช่วยหายใจผ่านทางจมูก)
- การใช้ยาสเตียรอยด์พ่นจมูก
- การสั่งน้ำมูกแรง ๆ
- การเปลี่ยนแปลงความกดอากาศอย่างรวดเร็ว เช่น ขึ้นเครื่องบิน, ดำน้ำ เป็นต้น
- การบาดเจ็บบริเวณศีรษะและใบหน้าอย่างรุนแรง อาจกระแทกที่จมูกโดยตรงหรือโพรงไซนัสจะทำให้เลือดออกจากจมูกเป็นปริมาณมากในระยะแรกได้
- อากาศหนาว ความชื้นต่ำ จะทำให้เยื่อบุจมูกแห้งทำให้มีการระคายเคืองและเลือดออกได้ง่าย
2.2. การอักเสบในโพรงจมูก ทำให้มีเลือดไหลมารวมที่หลอดเลือดที่เยื่อบุจมูกหรือเยื่อบุไซนัสมากกว่าปกติ และหลอดเลือดยังฉีกขาดได้ง่ายอีกด้วย เลือดกำเดาจะไหลปนออกมากับน้ำมูก ถ้าการอักเสบเพิ่มขึ้นหรือสั่งน้ำมูกแรงๆ ก็อาจจะมีเลือดกำเดาไหลมากได้ สาเหตุในกลุ่มนี้เช่น
- การติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนต้น มีอาการไข้ต่ำหรือไข้สูง, ตัวร้อน, ไอ, น้ำมูก, เจ็บคอ สาเหตุในกลุ่มนี้เช่น หวัดจากการติดไซนัสอักเสบ
- สิ่งแปลกปลอมในจมูก
- การสัมผัสกับสารระคายเคืองต่าง ๆ
- การใช้เครื่องอัดอากาศขณะหายใจเข้า [nasal continuous positive airway pressure (CPAP)] เพื่อรักษาภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
- การให้ออกซิเจนที่มีความชื้นต่ำ
2.3. ความผิดปกติทางกายวิภาค เช่น
- ผนังกั้นช่องจมูกคดหรือมีกระดูกงอกหรือมีรูทะลุ ทำให้อากาศที่ผ่านเข้าออกไม่เท่ากัน เลือดกำเดาจะไหลข้างที่มีผนังกั้นช่องจมูกคดหรือข้างที่แคบเพราะข้างที่แคบมีลมหายใจหรืออากาศผ่านเข้าออกมากและเร็วกว่าทำให้เยื่อบุจมูกบริเวณดังกล่าวแห้ง มีสะเก็ด และเปราะบาง ทำให้มีเลือดออกได้ง่าย
- เนื้องอก เช่น มะเร็งในจมูก ไซนัสหรือโพรงหลังจมูก, เนื้องอกชนิดไม่ร้ายที่มีเส้นเลือดมาเลี้ยงมาก ทำให้มีเลือดกำเดาไหลออกจากจมูกได้ ดังนั้นถ้าลูกน้อยมีเลือดกำเดาไหลเป็นๆหายๆ หรือไหลออกมาก ควรพาลูกน้อยไปคุณหมอเพื่อดูว่าต้องส่องกล้องตรวจในโพรงจมูกหรือเอ็กซเรย์
- ความผิดปกติของหลอดเลือดที่มาเลี้ยงจมูก เช่น เส้นเลือดโป่งพองที่เกิดจากอุบัติเหตุ, ความผิดปกติของเส้นเลือดแดงและดำที่มาเชื่อมต่อกันจากอุบัติเหตุ
- โรคเลือดชนิดต่างๆ เช่น ความผิดปกติของการแข็งตัวของเลือด (ฮีโมฟีเลีย, โรคตับแข็ง), การได้รับยาต้านการแข็งตัวของเลือด, การขาดวิตามินเค, ภาวะเกร็ดเลือดต่ำหรือทำงานบกพร่อง (ได้รับยา aspirin, NSAIDs)
- โรคของหลอดเลือด เช่น โรคทางพันธุกรรมบางชนิดที่มีความผิดปกติของหลอดเลือดทั่วร่างกาย (hereditary hemorrhagic telangiectasia) หรือภาวะเส้นเลือดแข็งตัว
การดูแลเลือดกำเดาไหลของลูกน้อยเบื้องต้นทำได้อย่างไร
คุณพ่อคุณแม่สามารถดูแลเลือดกำเดาไหลของลูกน้อยเบื้องต้นได้ดังนี้
- ให้ลูกน้อยเงยหน้าหรือก้มหน้าลง (ถ้าเป็นเด็กเล็กหมอเดียร์แนะนำให้ก้มหน้าครับ)
- ใช้นิ้วชี้และหัวแม่มือบีบปีกจมูกทั้งสองข้างให้แน่นเป็นเวลา 5 – 10 นาที และให้หายใจทางปากแทน การบีบจมูกด้วยวิธีนี้จะกดบริเวณด้านหน้าของผนังกั้นช่องจมูกซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีเลือดออกบ่อยที่สุด
- ใช้น้ำแข็งหรือผ้าเย็นประคบบริเวณจมูกด้านนอก
- ถ้ามีเลือดไหลลงคอให้บ้วนใส่ภาชนะเพื่อประเมินจำนวนเลือดและป้องกันการอาเจียนจากการกลืนเลือดเข้าไป
- ภายใน 24-48 ชั่วโมงแรกหลังเลือดหยุดแล้ว ควรนอนพัก ยกศีรษะสูง นำน้ำแข็งหรือ cold pack มาประคบบริเวณหน้าผากหรือคอ
- หลีกเลี่ยงการสั่งน้ำมูกแรงๆ, การแคะจมูก, การกระทบกระเทือนบริเวณจมูก, การออกแรงมาก, การเล่นกีฬาที่หักโหม หรือยกของหนัก เพราะอาจทำให้มีเลือดออกได้
- ถ้าเลือดออกไม่หยุดหรือออกมากผิดปกติ ผู้ป่วยควรรีบไปโรงพยาบาลเพื่อปรึกษาแพทย์ทันที
เลือดกำเดาไหลแบบไหนที่ควรรีบพาลูกน้อยไปพบคุณหมอ
จากที่หมอเดียร์บอกไปแล้วครับว่าการบีบจมูก 5-10 นาทีร่วมกับการประคบเย็นก็สามารถหยุดเลือดกำเดาไหลได้ แต่คุณพ่อคุณแม่ควรรีบพาลูกน้อยมาคุณหมอถ้าเลือดกำเดาไหลมีลักษณะดังต่อไปนี้
- บีบจมูกนาน 5-10 ร่วมกับการประคบเย็นแล้วเลือดกำเดาไม่หยุดไหลหรือไหลออกมากขึ้นเรื่อยๆ
- เลือดกำเดาไหลบ่อยๆ
- ได้รับการกระแทกบริเวณจมูกหรือโพรงไซนัสอย่างรุนแรง
- มีอาการของเลือดออกง่ายผิดปกติ เช่น เลือดออกตามไรฟันบ่อยและมาก, เป็นรอยช้ำเลือดออกชั้นใต้ผิวหนังง่าย, เลือดออกในข้อ
- มีโรคที่การแข็งตัวของเลือดผิดปกติ เช่น เกร็ดเลือดต่ำหรือทำงานผิดปกติ, ฮีโมฟีเลีย
- รับประทานหรือใช้ยาที่ต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น aspirin, NSAIDs
จะเห็นได้ว่าอาการเลือดกำเดาไหลเป็นหนึ่งในอาการที่ได้บ่อยในเด็กทุกอายุ สาเหตุของเลือดกำเดาไหลมีได้อย่างซึ่งส่วนใหญ่มักไม่เป็นอันตราย มีเพียงบางกรณีเท่านั้นที่คุณพ่อคุณแม่ควรรีบพาลูกน้อยไปพบคุณหมอครับ และส่วนใหญ่แล้วเลือดกำเดาสามารถหยุดเองได้ถ้าดูแลอย่างถูกต้องครับ