บทความจาก https://www.mamykid.com/ลูกพร้อมจะมีสัตว์เลี้ย/
สำหรับครอบครัวที่กำลังมีเด็กวัยซน หนึ่งในคำขอยอดฮิตที่ไม่แพ้การอยากได้ของเล่นชิ้นใหม่ หรือให้พาไปเที่ยวสวนสนุก ก็คือ “ขอเลี้ยงสัตว์ได้มั้ยครับ/คะ?” คุณพ่อคุณแม่ที่ไม่เคยมีประสบการณ์ การมีสัตว์เลี้ยงประจำบ้านมาก่อน คงรู้สึกสับสนวุ่นวายใจไม่น้อย ใจหนึ่งก็นึกเห็นใจลูก ไม่อยากให้ลูกรู้สึกผิดหวัง อีกใจนึงก็รู้สึกไม่แน่ใจ กังวลถึงภาระความรับผิดชอบ ที่ต้องเพิ่มขึ้นตามมาอีกมากมาย และที่สำคัญอาจกังวลว่า ลูกพร้อมจะมีสัตว์เลี้ยงหรือยัง หากคุณเป็นหนึ่งในหลายคนที่กำลังกังวลในเรื่องนี้ วันนี้ MamyKid มีคำแนะนำดี ๆ มาไขข้อข้องใจให้แล้วค่ะ
ลูกพร้อมหรือยัง
การเลี้ยงสัตว์ก็เหมือนกับการที่เรารับอีกชีวิตหนึ่งมาดูแล ก่อนที่คุณพ่อคุณแม่จะอนุญาตให้เด็ก ๆ เลี้ยงสัตว์ จึงต้องพูดคุยกับเด็ก ๆ ให้แน่ใจว่าพวกเขาพร้อมแล้วจริง ๆ เพราะหากเลี้ยงแล้วเบื่อ นำสัตว์เหล่านั้นไปทิ้ง หรือปล่อยให้พวกมันทรมาน แทนที่จะเป็นการปลูกฝังนิสัยด้านบวกให้เด็ก ๆ อาจเป็นผลตรงกันข้ามก็ได้ ข้อนี้จึงต้องระวังให้มาก ๆ ในขั้นแรก คุณพ่อคุณแม่ควรประเมินว่า ลูกพร้อมจะมีสัตว์เลี้ยงหรือยัง ดังนี้

1. ความพร้อมในด้านวุฒิภาวะของลูก พ่อแม่ควรดูเรื่องความเหมาะสมของช่วงวัย อาจจะประเมินจากความสามารถ ในการช่วยเหลือตัวเองของลูกว่า ลูกมีความรับผิดชอบต่อเรื่องส่วนตัวของตัวเองแค่ไหน มีสภาวะทางอารมณ์อย่างไร เวลาโมโห โกรธ หรือไม่พอใจ สามารถควรคุมร่างกาย และอารมณ์ได้หรือเปล่า ปัจจัยเหล่านี้ มีผลมากต่อการเลี้ยงสัตว์ของเด็ก ๆ เพราะบางครั้งเด็ก ๆ อาจจะเล่นแรงกับสัตว์ หรือเมื่อสัตว์ทำให้ไม่พอใจเด็ก ๆ อาจจะโกรธ และยั้งมือไม่เป็น ดังนั้น พ่อแม่จึงควรประเมินความพร้อม ในด้านวุฒิภาวะของลูกเป็นสิ่งแรก
2. ความพร้อมในด้านสุขภาพร่างกาย ถ้าลูก ๆ ของคุณมีปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับภูมิแพ้ต่าง ๆ แนะนำว่าควรไปตรวจสุขภาพอย่างละเอียด และลองทำสกินเทสดูว่าแพ้อะไรบ้าง มีปัจจัยอะไรที่เกี่ยวข้องกับสัตว์ที่ทำให้แพ้หรือไม่ เพราะถ้าหากมีก็ไม่แนะนำให้เลี้ยง
ทั้งสองข้อนี้เป็นหลักสำคัญที่ พ่อแม่จะใช้ประเมินลูกในการเลี้ยงสัตว์ นอกจากนี้แล้วอีกสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือ พ่อแม่ต้องประเมินตัวเองด้วยว่า มีความพร้อมมากน้อยแค่ไหนที่ จะต้องรับผิดชอบร่วมไปกับลูก
หากตัดสินใจให้ลูกเลี้ยงสัตว์แล้ว พ่อแม่ต้องทำหน้าที่เป็นทีมซัพพอร์ตในการให้คำปรึกษา ให้คำแนะนำในการเลี้ยงการดูแล หรือรับผิดชอบในส่วนของค่าใช้จ่ายต่าง ๆ รวมไปถึงการดูแลเมื่อสัตว์เลี้ยงเจ็บป่วย พูดง่าย ๆ ก็คือถ้าตัดสินใจให้ลูกเลี้ยงสัตว์ คุณซึ่งเป็นพ่อแม่ก็ต้องเป็นทีมเดียวกับลูกด้วยนั่นเอง
ยืนยันความต้องการ และทำข้อตกลง
หลังจากพ่อแม่ประเมินความพร้อมของลูกแล้ว ทีนี้ก็ต้องมานั่งคุยกับลูกอย่างจริงจัง พร้อมกับทำข้อตกลงไปด้วยเลยว่า ถ้าหากจะเลี้ยงน้องหมา (หรือสัตว์อื่น ๆ ) พวกเขาต้องปฏิบัติตัวอย่างไร และมีหน้าที่อะไรบ้างที่จะต้องรับผิดชอบ
1. ลองถามดูว่า ทำไมถึงอยากเลี้ยง
การเปิดใจรับฟังความคิดเห็นของเด็ก ๆ คือจุดเริ่มต้นที่ดี เปิดโอกาสให้พวกเขาได้แชร์ความคิดเห็นที่มีต่อน้องหมา (หรือสัตว์อื่น ๆ) และคุณพ่อคุณแม่ควรใช้โอกาสนี้ ในการอธิบายให้ลูกเข้าใจด้วยว่า “การเลี้ยงน้องหมา(รวมไปถึงสัตว์เลี้ยงอื่น ๆ ด้วย) ไม่เหมือนกับการเล่นของเล่น เพราะเค้าเป็นสิ่งมีชีวิต ต้องการความรัก การดูแล และการเอาใจใส่ไปตลอดชั่วชีวิต ดังนั้นถ้าหากคิดจะเลี้ยง ก็จะต้องรับผิดชอบต่อชีวิตของน้องหมาด้วย จะละเลยไม่ได้เด็ดขาด”
2. ทำข้อตกลง ขอบเขตความรับผิดชอบที่ต้องมี
พ่อแม่ควรพูดคุยกับลูกอย่างชัดเจนว่า ถ้าหากเลี้ยงแล้ว พวกเขาต้องรับผิดชอบหน้าที่อะไรในการดูแลบ้าง เช่น หน้าที่ในการให้อาหาร เก็บทำความสะอาดอุจจาระ และปัสสาวะ ทำความสะอาดบริเวณที่อยู่ และต้องแบ่งให้กับเค้าทุกวัน เป็นต้น การกำหนดหน้าที่ที่ชัดเจนจะช่วยสร้าง ความรับผิดชอบให้กับตัวเด็ก ทำให้เด็กเห็นถึงความสำคัญของการดูแลผู้อื่น และก็ยังช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีของทั้งคู่อีกด้วย
3. ถามความต้องการ ลูกอยากเลี้ยงน้องหมาแบบไหน
เด็ก ๆ หลายคนอาจจะมีน้องหมา น้องแมว ในฝันพันธุ์ที่อยากเลี้ยง พ่อแม่มีหน้าที่พูดคุยถามความต้องการของลูก และช่วยลูกหาข้อมูล เพื่อที่จะได้เรียนรู้ไปพร้อมกันว่าสัตว์ที่อยากเลี้ยงนั้นเหมาะสมกับตัวของลูก และไลฟ์สไตล์ของครอบครัวหรือไม่ เช่น ถ้าลูกอยากเลี้ยงน้องหมาที่มีพลังงานสูงอย่างไซบีเรียนฮัสกี้ แต่ลูกเป็นเด็กที่ไม่ชอบวิ่งเล่นนอกบ้าน พ่อแม่ทำงานเช้ากลับค่ำ ด้วยไลฟ์สไตล์แล้ว ก็ไม่เหมาะที่จะเลี้ยงน้องหมาที่มีพลังงานสูงอย่างไซบีเรียน เพราะน้องหมาพันธุ์น้องต้องการการปลดปล่อยพลังงาน เพื่อผ่อนคลายความเครียด ถ้าหากไม่ได้ออกกำลังกายเลย อาจทำให้เกิดความเครียด และทำพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมอย่างการเห่าหอน หรือกัดแทะทำลายสิ่งของได้
4. สอนให้ลูกรู้ว่า ถ้าจะเลี้ยงน้องหมาต้องรู้จักออมเงิน
การเลี้ยงน้องหมาเป็นการเพิ่มรายจ่ายในครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นค่าอุปกรณ์การเลี้ยง ค่าอาหาร ค่าวัคซีน ค่ายาต่าง ๆ ซึ่งแน่นอนว่าเด็ก ๆ ไม่สามารถรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดได้แน่นอน พ่อแม่คือผู้รับผิดชอบหลักในส่วนนี้ แต่พ่อแม่ก็สามารถสอนให้ลูกรู้จักความรับผิดชอบในส่วนนี้ได้ โดยการฝึกให้ลูกออมเงินค่าขนมบางส่วน เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายของน้องหมา เพราะในเมื่อพวกเขาอยากเลี้ยง นั่นแปลว่าพวกเขาต้องเรียนรู้ด้วยว่า การเลี้ยงหมาหนึ่งตัว นอกจากความอยากเลี้ยงแล้ว ยังต้องมีความรับผิดชอบเรื่องค่าใช้จ่ายด้วย การนำเงินที่ออมไปใช้ได้จริงแค่ไหนนั้นเป็นเรื่องรอง แต่จุดประสงค์หลักคือเด็ก ๆ จะได้เรียนรู้เรื่องความรับผิดชอบในด้านค่าใช้จ่ายที่คนเลี้ยงสัตว์ทุกคนจำเป็นต้องมีนั่นเอง
ผลดีจากการให้ลูกมีสัตว์เลี้ยง
ส่งเสริมทักษะการเข้าสังคม และเสริมสร้างความมั่นใจในตัวเอง – การเติบโตมาพร้อมกับสัตว์เลี้ยงจะเป็นประโยชน์ต่อเด็ก และวัยรุ่นทั้งในด้านสังคม อารมณ์ และการศึกษา โดยเด็กและวัยรุ่นที่เติบโตมาพร้อมสัตว์เลี้ยง มีแนวโน้มว่าจะมีความมั่นใจในตัวเองมากขึ้น รู้สึกโดดเดี่ยวน้อยลง และมีทักษะการเข้าสังคมมากขึ้น นับเป็นการตอกย้ำว่า สัตว์เลี้ยงช่วยกระตุ้นพัฒนาการของเด็กได้เป็นอย่างดี
มีจิตใจเมตตา อ่อนโยน – การสอนให้ลูกดูแลสัตว์ เป็นการช่วยกล่อมเกลาจิตใจของเขาให้อ่อนโยน รู้จักแบ่งปันเสียสละ และดูแลผู้อื่น ทำให้พวกเขาเติบโตมาเป็นคนที่มีคุณภาพ
การปลูกฝังความมีระเบียบวินัย และความรับผิดชอบ – เมื่อมีสัตว์เลี้ยงแล้ว ลูกจะต้องรู้จักการแบ่งเวลา ไปดูแลทำความสะอาด และให้อาหารกับสัตว์เลี้ยง ถ้าให้อาหารช้า ผิดเวลาไป เจ้าสัตว์นั้นคงจะร้อง หรือแม้กระทั่งเรื่องความสะอาดเอง เขาก็จะรู้จักดูแลตัวเอง และสัตว์เลี้ยงให้สะอาดด้วย การเลี้ยงสัตว์สักตัวนั้น ต้องการความเอาใจใส่ และความรับผิดชอบที่เขาต้อง ฝึกฝน ในการดูแลสิ่งมีชีวิตที่อ่อนแอกว่า การกระทำเช่นนี้จะเป็นการปลูกฝังความมีวินัย และความรับผิดชอบให้ลูกได้ตั้งแต่ยังเล็ก โดยที่ลูกจะไม่รู้สึกว่าถูกบังคับให้ทำ
สัตว์เลี้ยงสามารถเพิ่มศักยภาพในการเรียนรู้ให้กับเด็ก ๆ ได้ – เพราะเด็ก ๆ อยากรู้อยากเห็นเป็นธรรมชาติเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงของเขาอยู่แล้ว ซึ่งจะเป็นสิ่งที่ทำให้เด็กเรียนรู้มากขึ้น เด็กบางคนอ่านหนังสือให้สัตว์เลี้ยงฟัง ก็เป็นการพัฒนาศักยภาพในการเรียนรู้ได้ดีอีกด้วย อีกทั้งการได้ลงมือเลี้ยงสัตว์ ได้สังเกตธรรมชาติ การเติบโตของสัตว์เหล่านั้นด้วยตนเอง ลูกจะได้เห็นทั้งรูปร่าง ลักษณะ ชนิดต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ได้เป็นอย่างดี
ทำให้ลูกรู้สึกมีคุณค่า – เด็ก ๆ ที่ได้เลี้ยงดูสัตว์ จะรู้สึกว่าตัวเองเป็นที่พึ่งพาของผู้อื่นได้ และทำให้พวกเขาได้ตระหนักถึงคุณค่าในตัวเองด้วย
ทำให้รู้จักคุณค่าของสิ่งมีชีวิต – ยิ่งถูกเลี้ยงมาด้วยกันตั้งแต่ยังเด็กทั้งลูก และสัตว์เลี้ยง ทั้งสองจะผูกพันกัน และลูกจะมองเห็นสัตว์เลี้ยงเป็นพี่ เป็นน้อง เป็นส่วนหนึ่งในครอบครัว ไม่ทิ้งกันในยามยาก
ได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ – นอกจากการเลี้ยงเพื่อเป็นเพื่อนยามเหงาแล้ว ลูกจะได้ใช้เวลาอย่างคุณค่ามากขึ้น เพราะการมีสัตว์เลี้ยงในบ้าน จะทำให้เกิดกิจกรรมต่าง ๆ มากขึ้น เช่น ต้องอาบน้ำ-แปรงขน จัดหาอาหาร-น้ำดื่ม ทำความสะอาดกรงหรือคอก รวมทั้งการทำความสะอาดนำมูลของสัตว์ไปทิ้ง ดูแลเอาใจใส่พาสัตว์เลี้ยงไปวิ่งเล่นออกกำลังกาย
เสริมความสัมพันธ์ในครอบครัว – ทำให้เกิดกิจกรรมที่ทำร่วมกันในครอบครัว ทำให้มีความรักความผูกพันและใกล้ชิดกันมากขึ้น
การเลือกสัตว์เลี้ยงให้ลูก
เมื่อตัดสินใจแล้วว่าจะให้ลูกมีสัตว์เลี้ยงได้ ก็มาถึงคราวต้องเลือกสัตว์เลี้ยงให้ลูกกันแล้ว อย่างแรกเลยคุณพ่อคุณแม่ควรต้องคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นหลัก รวมทั้งสถานที่ในการนำสัตว์มาเลี้ยงเอื้ออำนวยเพียงไร มีอากาศถ่ายเทเพียงพอหรือไม่ และที่สำคัญจะให้ลูกเลี้ยงอะไร เช่น หากลูกอยากเลี้ยงสุนัข คุณพ่อคุณแม่จะต้องเลือกสุนัขสายพันธุ์ที่ไม่ดุร้าย สามารถเข้ากับเด็ก ๆ ได้ง่าย ควรซื้อสุนัขจากฟาร์มสุนัขที่มีความน่าเชื่อถือ มีใบรับรอง และสุนัขต้องได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว
นอกจากนี้แล้ว คุณพ่อคุณแม่ควรเลือกสัตว์ให้เหมาะกับลูก โดยปกติแล้ว เด็กเล็กช่วงวัย 2 – 5 ปีนั้น เหมาะกับสัตว์เลี้ยงทั่วไป หมา แมว นก ปลา ฯลฯ ขึ้นอยู่กับสถานที่ ในการเลี้ยงดู ความชอบ และหน้าที่ที่เด็ก ๆ จะได้รับ แต่แนะนำให้เลี่ยงสัตว์ฟันแทะ เช่นหนู หรือกระต่ายไปก่อน เพราะหากจับไม่ดีอาจถูกกัดได้ นอกจากนี้ศึกษาช่วงวัย สายพันธุ์และเพศของสัตว์ก่อนจะดีมาก เพราะธรรมชาติของสัตว์อาจแตกต่างกัน เช่นสุนัขบางสายพันธุ์ก็ไม่ชอบเด็ก ๆ หรือสัตว์ที่ยังเล็กเกินไปอาจยังไม่รู้จักยั้งกำลังของตัวเอง จนอาจทำให้เล่นกับเด็ก ๆ แรงเกินไปได้

ดูแลอย่างไรให้ลูกปลอดภัย
- อย่าปล่อยให้เขาอยู่ด้วยกันตามลำพัง
ไม่ว่าน้องหมาน้องแมวจะเชื่องแค่ไหน แต่สัตว์ก็ยังมีสัญชาตญาณบางอย่าง ที่เจ้าของไม่สามารถควบคุมได้ทั้งหมด คุณพ่อคุณแม่จึงไม่ควรปล่อยให้ลูกน้อยคลาดสายตา เพราะบางทีเด็ก ๆ อาจเผลอเล่นกับเจ้าสี่ขาแรงเกินไปโดยไม่รู้ตัว จนเป็นเหตุให้ถูกโจมตีกลับได้ - อย่าให้ลูกกวนสัตว์เลี้ยงตอนหลับ
สัตว์ต้องการเวลาพักผ่อน และความเป็นส่วนตัวบ้างไม่ต่างจากมนุษย์ ถ้าเขากำลังหลับเราก็ไม่ควรปล่อยให้ลูกน้อยเข้าไปรบกวน เพราะเขาอาจสะดุ้งตื่นด้วยความตกใจและทำอันตรายกับเด็ก ๆ ได้ - อย่าให้ลูกขึ้นขี่หลังหรือนั่งทับสัตว์เลี้ยง
คุณพ่อคุณแม่บางคนชอบนำเด็กไปวางบนหลังสัตว์เลี้ยง เพราะอยากถ่ายภาพที่ดูสนุกสนานและน่ารัก แต่นั่นเป็นการกระทำที่ไม่ปลอดภัยทั้งต่อตัวเด็กและสัตว์เลี้ยง การรับน้ำหนักมากเกินไปอาจทำให้สัตว์เลี้ยงบาดเจ็บได้ เด็กควรได้รับการสอนตั้งแต่ยังเล็กว่า ต้องปฏิบัติต่อสัตว์ด้วยความเมตตาและเคารพ - ใส่ใจสักนิดก่อนกอดสัตว์เลี้ยง
มนุษย์แสดงความรักด้วยการกอด แต่สุนัขบางสายพันธุ์เขารู้สึกว่าการกอดคือ การคุกคาม และไม่ชอบการเข้าหาในลักษณะจู่โจม เราจึงควรสำรวจลักษณะนิสัยของเขาก่อน ถ้าเขาดูเครียดและพยายามผละหนีทุกครั้งที่ถูกกอด เจ้าของก็ควรแสดงความรักต่อเขาด้วยวิธีอื่น ควรสอนเด็ก ๆ ให้รู้ว่าต้องพูดคุยและขออนุญาตก่อนสัมผัสตัวสัตว์เลี้ยงทุกครั้ง เพื่อไม่ให้ตกใจจนเผลอแสดงพฤติกรรมก้าวร้าว - สอนเด็ก ๆ ให้รู้ว่าอย่าแย่งของจากปากสัตว์เลี้ยง
บางทีน้องหมาตัวใหญ่ไม่ได้ตั้งใจทำร้าย แต่เนื่องจากขนาดตัวที่ใหญ่ มีแรงเยอะและมีฟันแหลมคม การกระชากของออกจากปากสัตว์เลี้ยง จึงอาจทำให้เกินอันตรายต่อเด็ก ๆ ได้ - อย่าปล่อยให้ลูกวัยแบเบาะนอนเตียงเดียวกับสัตว์
มีข่าวในต่างประเทศบ่อย ๆ ที่คุณพ่อคุณแม่ปล่อยให้สุนัขขึ้นมานอนข้าง ๆ ลูกน้อยวัยแบเบาะ บางครั้งเด็กน้อยแผดเสียงร้องไห้เสียงดัง ทำให้สุนัขสะดุ้งตกใจและทำร้ายเด็กทารกจนถึงแก่ชีวิต สถานการณ์แบบนี้อาจเกิดขึ้นได้โดยไม่คาดคิด - สอนเด็ก ๆ ว่าอย่าวิ่ง
สุนัขเป็นสัตว์ที่มีสัญชาตญาณความเป็นนักล่า โดยเฉพาะบางสายพันธุ์ที่มีสายเลือดนักล่าอยู่เต็มเปี่ยม หากเขาเห็นเด็ก ๆ วิ่ง สัญชาตญาณจะกระตุ้นให้ออกล่า คุณพ่อคุณแม่จึงต้องสอนเด็ก ๆ ให้เข้าใจถึงเงื่อนไขนี้ และควรพาสุนัขไปเข้ารับการฝึกอบรมให้เหมาะสมแก่การเป็นสัตว์เลี้ยงภายในบ้าน
การตัดสินใจเลี้ยงน้องหมาสักตัวถือว่าเป็นการรับผิดชอบชีวิตอีกหนึ่งชีวิต ดังนั้นเราอยากจะให้พ่อแม่ทุกคนไตร่ตรองดูให้ดีก่อนที่จะตัดสินใจอนุญาตให้ลูก ๆ เลี้ยงน้องหมานะคะ เช็คความพร้อมของลูก ๆ จนกว่าจะมั่นใจ จากนั้นจึงศึกษาวิธีเลี้ยงและวิธีดูแลให้ความรักอย่างถูกต้อง ถ้าเตรียมตัวทุกอย่างพร้อมแล้วก็เตรียมต้อนรับสมาชิกใหม่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวได้เลยค่ะ