บทความ

Develop Imagination In Children – การพัฒนาจินตนาการของเด็ก

Develop Imagination In Children

“พลังแห่งจินตนาการนั้นเป็นทั้งหางเสือและบังเหียนของประสาทสัมผัส”

– เลโอนาร์โด ดา วินชี –

“อย่าดับแรงบันดาลใจและจินตนาการของตัวคุณ”

วินเซนต์ แวน โก๊ะ –

“เด็กทุกคนล้วนเกิดมาพร้อมกับจินตนาการที่สดใส”

วอลต์ ดิสนีย์ –

สิ่งที่เหล่าผู้สร้างสรรค์ทั้งหลายต่างให้ความสำคัญอย่างท่วมท้นอย่าง “จินตนาการ” นั้น ในหลาย ๆ ครั้ง เด็ก ๆ มักจะแสดงสิ่งนี้ออกมาจนทำให้เรารู้สึกว่า โลกที่พวกเขาคิด โลกที่พวกเขามองเห็นนั้น มันช่างสดใสเกินกว่าที่ผู้ใหญ่คาดคิดไว้เสียอีก

หลาย ๆ คนอาจเคยสงสัยว่า “จินตนาการนั้นมันเป็นของแบบไหนกัน มีลักษณะอย่างไร” นักเขียนนวนิยาย เจ เค โรว์ลิ่ง ผู้ให้กำเนิดนวนิยายชื่อดังอย่างแฮรี่ พอร์ตเตอร์ ที่เคยสร้างปรากฏการณ์ด้วยจำนวนยอดขายที่มหาศาลไปทั่วโลก ได้กล่าวถึงเรื่องของจินตนาการในพิธีจบการศึกษา ณ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดไว้ว่า

“จินตนาการไม่ได้หมายความเพียงแต่ ความสามารถในการคิดถึงสิ่งที่ไม่มีอยู่จริงให้เกิดขึ้นมา การสร้างสิ่งประดิษฐ์ต่าง ๆ หรือการก่อกำเนิดความเชื่อมั่นบางอย่าง แต่จินตนาการยังหมายถึงสิ่งที่เหมือนภาพลวงตาที่ไม่มีรูปร่างตายตัว เป็นความสามารถที่ทำให้เรารู้สึกทึ่งและประหลาดใจ ด้วยผลของจินตนาการนี้เอง ทำให้ฉันเข้าใจและสัมผัสได้ถึงประสบการณ์ ความรู้สึกต่าง ๆ ของคนอื่นได้ ถึงแม้ว่าคน ๆ นั้นจะไม่เคยแบ่งปันหรือเล่าให้ฉันฟังเลยก็ตาม”

แม้ว่าจินตนาการจะก่อเกิดในตัวเราด้วยความเงียบงัน แต่เพราะการแสดงในสิ่งที่คิดออกมา มันทำให้เราสามารถแผ่ขยายขอบเขตของความคิดเราให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้นได้

ด้วยเหตุนี้ หากจะพูดว่าจินตนาการเป็นพลังอันแสนวิเศษณ์ ที่มีศักยภาพในการสร้างความสุขให้กับตัวเองและผู้อื่นได้ ก็ฟังดูเป็นคำพูดที่ไม่ผิดเลยเสียทีเดียว

ส่งเสริมจินตนาการด้วยเกมสนทนา “มองเห็นเป็นรูปอะไรนะ”

วอลต์ ดิสนีย์ ผู้สร้างสรรค์ผลงานการ์ตูนที่แพร่หลายไปทั่วโลก เคยกล่าวเอาไว้ว่า ไม่ว่าเด็กคนไหนก็ล้วนแต่โอบอุ้มจินตนาการไว้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด เด็กทารกที่เพิ่งเกิดมาจะเริ่มต้นจากไม่มีอะไรเลย พอเขาเริ่มเติบโตขึ้น สิ่งต่าง ๆ ที่เขาทำได้จะค่อย ๆ สะสมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ความอยากรู้อยากเห็นจากการได้ลองทำสิ่งต่าง ๆ ก็ได้ก่อเกิดขึ้น โดยสิ่งนี้จะกลายเป็นวัตถุดิบชั้นดีที่แปรเปลี่ยนไปเป็นจินตนาการในที่สุด

เกี่ยวกับกระบวนการเจริญเติบโตนี้ ศาสตราจารย์มิโอะ วะตะนะเบะแห่งภาควิชาจิตวิทยา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยโฮเซ ได้ให้ข้อมูลไว้ว่า ในช่วงรอยต่อสำคัญของการเจริญเติบโตอย่างการยืน หรือการพูดได้นั้น อยากให้เด็กได้ฝึกทักษะการจับภาพอะไรบางอย่างเพิ่มเข้าไป ซึ่งจุดนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นของเมล็ดพันธุ์แห่งจินตนาการที่จะก่อกำเนิดขึ้นในอนาคต

ศาสตราจารย์วะตะนะเบะได้เสนอเกมสนทนาที่จะช่วยพัฒนาทักษะการจินตนาการไว้ในลักษณะนี้

ในระหว่างที่กำลังมองเมฆบนท้องฟ้าอยู่นั้น
แม่ : เมฆก้อนนั้น เห็นไหมว่าเป็นรูปอะไร
ลูก : เมฆก้อนนั้น หนูเห็นเป็นรูปปลาค่ะ
แม่ : งั้นเหรอ แต่แม่เห็นเป็นรูปแมวนะ จะว่าไป แม่เองก็มองเห็นเป็นรูปอื่น ๆ ได้เยอะเหมือนกัน
ลูก : จริงด้วย พอมองดูดี ๆ หนูเห็นเป็นรูปเรือด้วยค่ะ

นอกจากนี้ การเล่นปั้นดินเป็นรูปร่างต่าง ๆ หรือเล่นสวมบทบาทสมมติเองก็มีส่วนช่วยพัฒนาทักษะการจินตนาการได้ด้วยเช่นกัน

จุดสำคัญในการพัฒนาทักษะด้านนี้คือ ผู้ปกครองต้องเข้าไปมีส่วนร่วมกับโลกในจินตนาการของลูก อย่างเช่น ในช่วงอ่านนิทานก่อนนอน ไม่ใช่แค่อ่านนิทานให้ลูกฟังเพียงอย่างเดียว หากผู้ปกครองสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมกับจินตนาการของลูกได้ ก็จะช่วยส่งเสริมทักษะด้านนี้ของลูกพัฒนาได้ดียิ่งขึ้น

การท้าทายด้วยการวาดรูปตามจินตนาการ

คุณคิมิฮิเดะ ทะคะฮะชิ ผู้ที่มีบทบาทในฐานะนักเขียนแวดวงการศึกษาได้เสนอว่า ถ้าต้องการให้ทักษะจินตนาการของเด็กเติบโตอย่างสมวัย ควรใช้การวาดภาพเป็นเครื่องมือในการฝึกฝน

สำหรับวิธีการนั้น ก่อนอื่นให้กำหนดหัวข้อในการวาดภาพ ซึ่งหัวข้อนั้นอาจจะฟังดูแปลกประหลาดสำหรับเด็กสักหน่อย ตัวอย่างเช่น

ฉันคือสัตว์ลึกลับ หัวกลม มีขนยาว บนหัวมีเขาอยู่ 1 อัน
ลำตัวเรียวยาว มีขาสั้น 4 ขา หางฟูแต่ไม่ยาว
ลองวาดรูปของฉันดูสิ

นี่คือตัวอย่างโจทย์ที่คุณทะคะฮะชิได้ให้เด็ก ๆ ลองทำ ปฏิกิริยาของเด็ก ๆ ที่มีต่อหัวข้อนี้แบ่งออกเป็น 2 แบบ คือมีเด็กที่พยายามวาดรูปของสัตว์ที่อยู่บนโลกความเป็นจริงอย่างสิงโตหรือโลมา กับมีเด็กที่พยายามวาดรูปของสัตว์ในจินตนาการ

แต่ทว่าในกลุ่มของเด็ก ๆ นั้น ก็มีเด็กที่ไม่ชอบการวาดรูปอยู่ด้วยเช่นกัน คุณคะสึโตะ โกะโต อาจารย์ประจำวิชาศิลปะได้กล่าวว่า “เด็กที่ไม่ถนัดการวาดรูปนั้น จะมีความกังวลว่า “ฉันไม่มั่นใจเลยว่าฉันวาดถูกต้องหรือเปล่า” ”

เคยสังเกตไหมว่าสาเหตุของความกังวลนี้มาจากไหน อันที่จริงแล้ว ก็มีความเป็นไปได้ว่าจะมาจากคำพูดที่ไม่ระมัดระวังของพ่อแม่ อย่างเช่น “เด็กคนนี้ไม่ถนัดวาดรูปน่ะค่ะ” เป็นต้น อีกทั้งคำพูดที่พ่อแม่ชอบใช้บ่อย ๆ อย่าง “เก่งจังเลย” ก็อาจมีส่วนทำให้เด็กพยายามวาดรูปเพื่อแค่ให้ได้รับคำชมจากพ่อแม่ ซึ่งนั่นอาจส่งผลให้เกิดการจำกัดขอบเขตจินตนาการของตัวเด็กได้ ทางที่ดีควรหลีกเลี่ยงการกระทำในลักษณะนี้ไว้จะดีกว่า

เพื่อให้ลูกของคุณสามารถพัฒนาทักษะด้านจินตนาการได้อย่างมีประสิทธิภาพ พ่อแม่ควรระมัดระวังในสิ่งที่พูดออกไปกับลูกด้วย หากปฏิบัติตามนี้ “การวาดรูปตามจินตนาการ” จะกลายเป็นเครื่องมือชั้นเยี่ยม ที่ช่วยปลดปล่อยสิ่งที่เด็กคิดและรู้สึกออกมาได้เป็นอย่างอิสระนั่นเอง

ขอขอบคุณข้อมูลจาก https://kodomo-manabi-labo.net/imagination-oekaki